ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ความเดิมตอนที่แล้ว ผมพาคุณผู้อ่านไปชมความน่าสนของซีดานใหญ่ฝั่งเยอรมนี ซึ่งผมพยายามเลือกรถแต่ละรุ่นให้มีค่าตัวอยู่ที่ไม่เกินสามแสนบาท แล้วก็ได้ทางเลือกมาเป็น BMW 5 Series E34 และ E39 กับ Mercedes-Benz E-Class W124 และ S-Class W140/V140 ก็ปรากฏมีผู้สนใจแชร์บทความดังกล่าวไปเป็นจำนวนมาก จนผมต้องบอกไว้อย่างหนึ่งเป็นสัจธรรมว่า รถเหล่านี้นะครับ ตอนที่พวกเขายังถูกขายเป็นรถป้ายแดงอยู่ ราคาก็มีตั้งแต่หย่อนสองล้านนิดๆ ไปจนถึงสี่ล้านกว่าๆ วันหนึ่ง เมื่อกาลเวลาพาให้พวกเขาชราลง (แค่ชรา ยังไม่ตาย) ราคาค่าตัวลงมาอยู่ในงบประมาณพอๆ กับ Nissan March เกียร์ธรรมดาป้ายแดง

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

แต่เวลาซ่อม เวลาพิจารณาค่าอะไหล่ คุณย่อมไม่เปรียบรถเหล่านี้กับรถใหม่ที่ราคาสามสี่แสน ณ ปัจจุบัน คุณต้องคิดว่า มันคือรถที่มีราคาหลักล้านหรือหลายล้านในอดีต เมื่อคิดแบบนี้แล้วก็จะเตรียมค่าซ่อมไว้ได้อย่างถูกต้องตามงบที่ควรจะเป็น อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่รถหรูจากยุค 90s ทุกรุ่นหรอกครับที่มีจุดต้องดูแลเยอะ และค่าซ่อมแพง เพราะอย่าลืมว่าญี่ปุ่นก็ทำรถหรูเป็น แต่จะถูกรสนิยมคุณไหมนั้น เป็นอีกเรื่อง คอลัมน์วันอาทิตย์ของเราในครั้งนี้ ก็จะพาไปชมรถซีดานใหญ่คลาสสิกในงบสามแสน จากฝั่งญี่ปุ่น และเพื่อเพิ่มความเป็นนานาชาติเข้าไป เราจะผสมของดีดีกรีแรงจากทางสวีเดนเข้าไปด้วย เป็นไงล่ะ ตามผมมาเลยครับ

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

Toyota Crown 10th Generation

ใช้แบบสภาพเดิม : ได้แต่ดูแก่อย่างไร้ข้อกังขา

ใช้แบบแต่งสวย : ได้ แต่ถ้าทำไม่ถูกทาง อาจจะออกมาดูเหมือนยานรบ

เป็นรถหาดูยาก : ไม่ง่าย..ในรุ่นซีดาน และหาดูยากมากในรุ่นฮาร์ดท็อป

ความยากในการดูแล : ง่ายเกือบเท่า Corolla

หลายคนอยากได้รถใหญ่ที่นั่งสบาย ช่วงล่างนุ่มนวลสดชื่นเหมือนยืนบนปุยเมฆ รถประเภทที่ทำให้คุณลืมเรื่อง 0-100, 80-120 หรือควอเตอร์ไมล์ แล้วเอ็นจอยไปกับการขับไปเอื่อยๆ ด้วยความเร็ว 90 เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร โดยที่คุณไม่รู้สึกเหนื่อยล้าในการขับ หรือว่าคุณรู้สึกว่าบิ๊กซีดานฝั่งยุโรปนั้น จุดดูแลจุกจิกเยอะ เวลาเอามาใช้งานแล้วไม่ค่อยอยากขับให้กิโลมันขึ้นเพราะกังวลเรื่องความทนทาน นี่ล่ะคือจุดที่ Toyota Crown เจเนอเรชันที่ 10 เข้ามาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สาเหตุที่เลือกรุ่นนี้หรือครับ? ถ้าคุณอยากได้ความ Crown แบบคลาสสิกสุดๆ คุณต้องไปเล่นเจเนอเรชันที่ 9 ครับ ราคาถูกด้วย แต่เกือบทั้งหมด เป็นรถประกอบในประเทศที่ถูกใช้งานจริงจังมานานจนความโทรมเริ่มเข้าถึงหลายจุด และอาจต้องมีรายการซื้อรถสองสามคันมารวมร่างเป็นคันเดียวที่สภาพดี แต่กับเจเนอเรชันที่ 10 นั้น ยังมีรถสภาพดีเหลือเยอะ เปลี่ยนอะไหล่แค่บางส่วนก็วิ่งต่อในสภาพคล้ายรถอายุ 10 ขวบได้

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

การนำเสนอความหรูหราแบบญี่ปุ่นแท้ ซึ่งสร้างมาเพื่อตอบรสนิยมแบบญี่ปุ่น 100% ก็อย่างเช่น การปฏิเสธหนังกลิ่นหอมๆ แล้วเปลี่ยนมาเป็นเบาะหุ้มกำมะหยี่นุ่มเนียนจนรู้สึกอยากเอาไปทำผ้าเช็ดหน้า ปฏิเสธดีไซน์ที่ดูสปอร์ตโฉบเฉี่ยวแล้วเสนอความเรียบง่ายในเส้นสาย ใส่โครเมียมเข้าไปเยอะๆ เมื่อคุณเข้าไปนั่งใน Crown มันคือรถที่ให้คุณรู้สึกว่าเป็นสถานที่อบอุ่น สบายตัว มีที่วางแก้วด้านหน้า มีระบบปรับอากาศอัตโนมัติที่แยกสวิตช์ควบคุมกับตู้แอร์สำหรับผู้โดยสารหลัง ในบางรุ่นมาพร้อมกับเบาะหลังเอนได้ คันเหนี่ยวจับให้ขึ้นลงเบาะหลังได้ง่าย ส่วนรูปทรงของรถนั้น มีสองแบบให้เลือกตามรสนิยมและกำลังทรัพย์

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

รุ่นซีดาน จะเป็นประตูแบบมีกรอบกระจก หน้าตาดูแก่กว่า กระจกหน้าหลังค่อนข้างชัน แต่ประตูเข้าออกง่ายกว่ารถเยอรมันมาก ตัวถังซีดานนี้ หารถได้ง่ายมากเนื่องจากเป็นรถประกอบในประเทศไทย ราคาไม่สูงเกินเอื้อม และยังมีความเด็ดตรงที่ได้เครื่องยนต์ 2JZ-GE VVTi มีระบบวาล์วแปรผัน 220 แรงม้า สูงกว่าบิ๊กซีดานพิกัดเดียวกันทุกรุ่นสมัยนั้นไม่เว้นแม้แต่ Audi S6 quattro, Volvo 960 3.0, Saab 9000 Turbo Aero ส่วนรุ่นฮาร์ดท็อปนั้น ตลาดมือสองบ้านเราจะเรียกว่ารุ่นกระจกเปลือยเพราะกระจกประตูจะไม่มีกรอบ หลังคาดจะลาดเตี้ยกว่านิดๆ และเมื่อมองจากหน้าตรง จะเห็นว่าแนวเสาจากกระจกมองข้างไปหาหลังคาก็เอนเอียงมากกว่ารุ่นซีดาน ทั้งหมดนี้ทำให้มีภาพลักษณ์ที่ดูโฉบเฉี่ยวกว่า และเป็นรถที่หายาก เนื่องจาก Toyota Motor ประเทศไทยนำเข้ามาขายในปี 1998 โดยราคารุ่น 2.0 ลิตร เครื่อง 1G-FE 140 แรงม้าอยู่ที่ 2.3 ล้าน และรุ่น 3.0 ลิตร 220 แรงม้าอยู่ที่สามล้านมีทอนนิดหน่อย ค่าตัวแพงกว่า E34 525i รุ่นโละสต๊อกไปกว่าล้าน ทำให้คนที่กล้าซื้อใช้ จึงมักจะมีแต่ Toyota เอง เอามาเป็นรถประจำตำแหน่งผู้บริหาร สถานทูตญี่ปุ่น หรือนายทหารกับข้าราชการระดับสูง

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ความเด็ดที่หลายคนไม่ทราบก็คือ บอดี้แบบฮาร์ดท็อป เป็นรถที่หายากมากในเมืองไทย แต่หาง่ายโคตรในญี่ปุ่นครับ จำนวนอะไหล่เซียงกงที่เข้ามาจึงเยอะ เพราะพ่อค้าไทยอยากจะตัดเครื่อง 1JZ กับ 2JZ มาขาย ญี่ปุ่นก็บังคับให้เอามาทั้งหน้าและท้ายตัด อะไหล่พวกนี้กองพะเนินเทินทึกไม่มีใครใช้ ใครไปเหมาหมดพ่อค้าแทบกระโดดจูบปาก แต่นั่นคือนานมาแล้ว ทุกวันนี้อะไหล่บางส่วนเริ่มร่อยหรอลงตามเวลา ราคาสูงขึ้นบ้างแต่ เบาะไฟฟ้าคู่ละ 4,500 แดชบอร์ดพร้อมแผงคอนโทรลและหน้าปัดดิจิทัลตัวนอก หมื่นต้นๆ อะไหล่หลายชิ้นถ้าเจอพ่อค้าใจดีก็คิดชิ้นละ 1,000-1,500 บาท แต่อีก 3-4 ปี ราคาคงโดดไปมากกว่านี้ ในทางตรงกันข้าม รุ่นซีดานนั้น ราคาตัวรถแสนกลางถึงปลาย ถูกกว่ารุ่นฮาร์ดท็อปเป็นแสน แต่อะไหล่มือสองญี่ปุ่น หายากกว่ามาก

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

หากถามเรื่องความจุกจิก…จะเอาอะไรครับ เครื่อง JZ นั้นคือเครื่องล้านไมล์ที่ฝรั่งชมกัน ดูแลรักษาตามปกติ เดินเบาพัง คอยล์พังบ้างก็เปลี่ยน ดูแลรักษาดีๆ ห้าแสนโลก็ใช้ต่อได้ อะไหล่ตัวถัง ถ้าไม่แคร์สภาพว่าต้องสวยเหมือนป้ายแดง ใช้ของมือสองประหยัดเงินได้เยอะมาก ระบบไฟฟ้า หากไม่เคยโดนรื้อแบบชุ่ยๆ แทบไม่มีจุดให้เสีย คุณคิดว่า Corolla อายุ 20 กว่าปีทนแค่ไหน Crown ก็ทนเท่านั้น แต่จะเพิ่มจุดดูแลที่มากับความหรูของรถ เช่นเบาะหลังปรับไฟฟ้า ถ้าไม่หมั่นกดใช้ บางทีกดแล้วไม่ไป ระบบแอร์มีความซับซ้อนคล้ายรถยุโรปแต่ทำจบง่ายและเย็นจัดสไตล์ Toyota ช่วงล่างคล้าย Mercedes-Benz W123 จุดยึดและลูกหมากค่อนข้างเยอะ แต่ทำดีๆ ทีเดียว เจอกันอีกครั้งที่สองแสนโล อะไหล่บางชิ้นสามารถเบิกใหม่ 100% ได้จากญี่ปุ่น แต่บางชิ้นจะเริ่มหายากมากแล้ว เช่นยางขอบประตู นี่คือจุดที่อยากให้พิจารณาตอนเลือกซื้อรถมือสอง แผงประตูจะมีผ้าบางส่วนหลุดลุ่ยบ้างสามารถซ่อมได้

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

Crown ไม่ใช่รถขับสนุกในโค้งนะครับ มันเกาะ มันเอาอยู่ แต่ความยวบย้วยของตัวรถจะพยายามบอกให้คุณใจเย็นแล้วเอ็นจอยกับชีวิตในจังหวะที่ช้าลงบ้าน แต่เกียร์อัตโนมัติ ECT คุมด้วยไฟฟ้าเต็มระบบกับพวงมาลัยนั้น ให้ความคล่องตัวยามขับในเมืองดีกว่าเบนซ์จากยุค 90s คนละเรื่อง มันคือรถที่คนมองข้ามไปเยอะเพราะความแก่ แต่ถ้าเป็นรุ่นกระจกเปลือย มันคือคำตอบที่เหมาะมากสำหรับคนที่อยากใช้รถหาดูยาก เป็นของแปลก แต่เวลาซ่อมดันกวักมือเรียกอะไหล่ได้อย่างง่ายดาย

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

Lexus LS400

ใช้แบบสภาพเดิม : ได้และดูหนุ่มกว่า Crown นิดๆ

ใช้แบบแต่งสวย : ได้ แต่จะมีเส้นบางๆ ระหว่างความหล่อกับความเป็นยานประจัญบาน

เป็นรถหาดูยาก : ไม่ง่าย

ความยากในการดูแล : ต่างจาก Crown ไม่มากถ้าไม่เลือกช่วงล่างแบบถุงลม

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ถ้าคำว่า Lexus ไม่ได้สะท้อนถึงความประณีตและคุณภาพ โลกนี้ก็คงไม่เหลือรถที่มีคุณภาพ และสำหรับ LS400 คุณจะดีใจที่ปัจจุบัน เจเนอเรชันที่ 1 และ 2 มีราคาลงมาอยู่ในระดับที่สามแสนสามารถให้คุณเอื้อมถึงได้ LS400 ไม่ใช่รถหรูรุ่นแรกที่ Toyota พยายามทำ อย่าลืมว่า Toyota สร้าง Crown ขายมากว่า 60 ปีแล้ว แต่นั่นคือการทำรถหรูเพื่อชนะใจคนในบ้านตัวเอง ในขณะที่ LS เป็นสิ่งที่สร้างมาเพื่อฆ่ารถหรูจากอเมริกาและยุโรป ท่านประธาน ไอจิ โตโยดะ ดำริตั้งแต่ปี 1983 แล้วว่าต้องการสร้างรถ F1 ซึ่งไม่ใช่รถแข่ง แต่ย่อมาจาก Flagship Number 1 เรือธงอันดับหนึ่งของค่ายสำหรับตลาดสากล

แล้วกว่าที่รถจะออกขายจริงได้นั้นก็ปี 1989 ช่วงเวลาอันยาวนานนั้น พวกเขาสร้างรถทดสอบขึ้นมาวิ่งถึง 450 คัน สร้างเครื่องยนต์ต้นแบบมาทดสอบสมรรถนะและความทนทานจำนวน 900 เครื่อง เอาระยะของรถทดสอบวิ่งมารวมกันได้ 2.7 ล้านกิโลเมตร แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ อย่างวัสดุบางจุดในห้องโดยสาร ก็ต้องคัดเลือกวัสดุมาหลากหลายแบบ จากนั้นเอาไปใส่รถทดสอบแล้วจอดตากแดดอยู่ 2 ปี เพื่อดูว่าแต่ละชิ้นส่วนมีความเสื่อมช้าเร็วอย่างไร แล้วเลือกของที่ดีที่สุดมาใช้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเมื่อเจอแดดเมืองไทยต่อเนื่องกันนานหลายปี Lexus จึงยังมีสภาพพอชื่นชมได้บ้างในขณะที่รถราคาสี่ห้าล้านรุ่นอื่นต้องมีซีดมีแตกละลายกันบ้าง

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

รถเจเนอเรชันที่ 1 เริ่มทำตลาดในไทยเมื่อรัฐบาลท่านอานันท์ สั่งลดกำแพงภาษีรถนำเข้า รถลอตแรกๆ เริ่มเข้ามาประมาณปี 1993 และได้รับความนิยมจากบุคคลที่มีชื่อเสียงจำนวนมากซึ่งเป็นคนที่ไม่กลัว และไม่แคร์ว่าใครจะมาบอกว่า “ทำไมต้องใช้โตโยต้าคันละสี่ล้าน” คนเหล่านี้มักเรียนจบมาจากเมืองนอก ติดตามข่าวสารรอบโลกและทราบดีว่าแบรนด์ Lexus มีคุณภาพเพียงใด แม้อัตราส่วนของ LS จะมีน้อยนิดบนท้องถนนเมื่อเทียบกับ S-Class แต่เมื่อมองว่าการใช้ใจซื้อโตโยต้าที่แพงกว่าเบนซ์หรูๆ ได้ยอดมาเท่านี้ก็บุญแล้ว รถเจเนอเรชันที่ 1 ในทุกวันนี้ ค่าตัวเริ่มตั้งแต่แสนกลางถึงปลาย อย่าแปลกใจว่าทำไมราคาแพงกว่า Crown ที่ปีเท่ากันไม่กี่หมื่นบาท ความเป็นรถเครื่องโต 4.0 ลิตร ทำให้คนซื้อกลัวเรื่องค่าน้ำมัน หลายคนก็เอา LS ไปติดแก๊สวิ่ง แล้วก็พาลให้โดนตีราคามือสองต่ำ ทั้งๆ ที่เครื่องยนต์ 1UZ-FE กับแก๊ส LPG นั้นคู่กันได้ดีราวกาแฟกับนมข้น ทนทาน ไว้ใจได้ ปัญหาน้อยกว่าเครื่องเยอรมัน เดินเรียบกว่า ประหยัดเชื้อเพลิงกว่าเครื่องเยอรมันที่มาจากปี 1989 และความจุไล่เลี่ยกัน

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ความน่าเล่นของเจเนอเรชันแรก อยู่ที่รูปทรงซึ่งดูมีสัดส่วนลงตัว มีสง่าราศี เพราะเป็นดีไซน์ที่ตั้งใจทำอยู่หลายปี ราคารถก็ถูกกว่า และที่สำคัญ หากคุณมีความคิดแปลกๆ ที่อยากจะเอาเครื่อง V8 ตัวนี้ไปบวกเทอร์โบเล่นเอง เครื่องยนต์ของรถเจเนอเรชันแรก มีก้านสูบที่โตกว่า ทนกว่า ว่ากันว่าเครื่องยนต์นี้ไม่ต้องเปิดเพื่อโมดิฟายอะไรก็สามารถรองรับม้าระดับ 450 ตัวได้สบาย แต่คุณอาจไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ส่วนเจเนอเรชันที่สอง เปิดตัวในปี 1995 ด้วยหน้าตาที่ละม้ายคล้ายเดิมจนหลายคนนึกว่าเป็นรถไมเนอร์เชนจ์ ทั้งที่จริงดีไซน์หน้าถึงหลังนั้นใหม่ถอดด้าม ระยะฐานล้อยาวขึ้น ความยาวตัวรถเท่าเดิม ล้อหน้าถูกผลักไปทางหน้ารถมากขึ้น เลยอาจทำให้หน้าตาดูทู่ๆ ไม่สมส่วนแบบรุ่นแรก แต่มีความลู่ลมระดับค่า Cd 0.28 เครื่องยนต์ได้รับการปรับพลังเพิ่มจาก 250 เป็น 260 แรงม้า ตัวถังมีน้ำหนักเบาลง ยิ่งทำให้เร่งได้ไวและประหยัดน้ำมันกว่ารุ่นเดิมเข้าไปอีก ช่วงล่างก็ถูกปรับให้มีความหนึบเพิ่มขึ้นจากรุ่นเดิมที่ได้รับคำชมว่านุ่มนวล แต่ความเร็วสูงยังมั่นคงสู้พวกเบนซ์หรือ BMW ไม่ได้

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

LS400 มีจุดขายที่ความเงียบในห้องโดยสาร เมื่อตอนที่ออกมาใหม่ๆ มันเอาชนะรถเยอรมัน ไปจนถึง Bentley และ Rolls-Royce ในแง่การเก็บเสียง จากการใช้วัสดุซับเสียงแบบพิเศษรอบคัน หม้อพักไอเสียแบบเก็บเสียงหลายใบ วันเวลาผ่านไปอาจทำให้ขอบยางซีลกันเสียงต่างๆ เสื่อมไปบ้างแต่หากเป็นรถที่ใช้งานปกติ LS400 อายุ 25-27 ปีก็ยังเงียบในระดับที่รถใหม่ราคา 1-2 ล้านบาทบางคันอาย ความหรูหราแบบรถเรือธง วัสดุชั้นดี และลูกเล่นที่มากกว่า Crown (สเปกที่ Toyota เลือกมาขายในไทย) ภาพรวมคุณจึงได้รถหรู ที่ทนทานเหมือนรถใช้งานทั่วไป วันเวลาอาจทำให้หนังหุ้มวัสดุต่างๆ เริ่มมีรอยลอก คอนโซลอาจจะปูดขึ้นมาบ้าง แต่อะไหล่ยังพอหาได้ เครื่อง 1UZ กับเกียร์ A340E ยิ่งทนหายห่วง เป็นรถในตำนานที่เหมาะมากสำหรับคนที่เบื่อการวิ่งเข้าวิ่งออกอู่ แล้วยังอยากได้ทั้งความหรู บวกความแปลกหายาก แต่ทำใจกับค่าน้ำมันหน่อยหากไม่คิดจะคบ LPG

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

Volvo 940/960

ใช้แบบสภาพเดิม : ได้ ส่วนมากก็เป็นแบบนั้น

ใช้แบบแต่งสวย : เชื่อสิมันแต่งให้ดูโหดและหล่อได้มากกว่าที่คุณคิด

เป็นรถหาดูยาก : ไปยืนริมถนนเดี๋ยวก็เจอ

ความยากในการดูแล : น้อยกว่ารถเยอรมัน มากกว่ารถญี่ปุ่น

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ความสุขในการใช้ Volvo อย่างหนึ่งก็คือ คนทั่วไปจะมองว่าเราเป็นคนแก่ๆ ที่สนใจเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะสโลแกนที่ว่า “ทุกชีวิตปลอดภัยใน Volvo” แต่ในความเป็นจริงถ้าหากคุณได้ลองสัมผัส ลองคุยกับคนที่โมดิฟายเครื่องยนต์ Volvo เทอร์โบดูสักครั้งจะรู้ว่ารถที่หน้าตาวัยคุณพ่อแบบนี้ สามารถทำให้เป็นอสูรร้ายพลังมหาศาลได้ โดยที่ไม่ได้ยกเครื่องเดิมออกแล้ววาง 1JZ-GTE อย่างที่นักเลงรถชอบทำกัน 20 ปีก่อน เครื่องเทอร์โบ 4 สูบของ Volvo นี่ล่ะ ถ้าได้ช่างมือดีๆ เปลี่ยนเทอร์โบ อินเตอร์คูลเลอร์และแคมชาฟต์สักหน่อย ขับสนุกกว่าเดิมเยอะ มาดของรถที่เป็นทรงเหลี่ยมๆ ดูแล้วไม่น่าจะแต่งขึ้น แต่กลับไปด้วยกันได้ดีมากกับล้ออัลลอยแต่ง จะขอบ 17 หรือ 18 จะยุโรปหรือญี่ปุ่นก็ตาม

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

940 และ 960 นั้นเป็นรถที่สืบทอดเทคโนโลยีต่อมาจาก 740 และ 760 จากยุค 80s ทีนี้…เมื่อครั้งที่ Volvo พัฒนารุ่น 700 Series ทั้งหลายนั้น ได้ทุ่มเงินลงทุนมหาศาลไปกับการวิจัยพัฒนารถยนต์แล้ว รถรุ่น 900 Series จึงเหมือนเป็นการนำรุ่น 700 มาปัดฝุ่น ได้ภายนอกที่ดูสวยขึ้น แต่อย่าง 760 รุ่นหลังๆ กับ 960 ก็ใช้ชิ้นส่วนร่วมกันเยอะมาก ในส่วนหน้าของรถ เครื่องยนต์ รวมถึงแดชบอร์ด และเมื่อพูดถึงเรื่องการออกแบบ รถสวีเดนอย่าง Volvo ก็มีจุดเด่นที่ความอินดี้ที่ไม่ได้พยายามจะดูสปอร์ตหรือเพรียวลม แต่กลับเหลี่ยมไปทั้งคัน ให้มาดบึกบึนราวกับว่าชนกับรถบรรทุก ไอ้เจ้านี่ก็ชนะ หลายคนจึงชอบเรียก 900 Series ด้วยฉายาว่ารถถังสวีเดน ด้วยความแข็งของเหล็กที่เอามะเหงกเคาะมีเจ็บ และยังมีเรื่องความปลอดภัยจากการชน ที่พัฒนาต่อยอดจาก 700 Series ในเรื่องการใช้ตัวถังซับแรงกระแทกเพื่อลดอาการบาดเจ็บของผู้โดยสาร หรือแม้แต่เบาะ ที่ไม่ใช่สักแต่ว่าทำ Volvo เอานักกายภาพ และแพทย์จากโรงพยาบาลต่างๆ ในสวีเดนมาช่วยวิจัยการออกแบบเบาะนั่งของรถตั้งแต่สมัย 200 Series แล้ว หลายคนจะพบว่าเบาะ BMW เล็ก และเบาะเบนซ์นั่งแล้วยู่แปลกๆ ไม่ชินก้น แต่เบาะของ Volvo นั้นมีความนุ่มนอกแข็งในกำลังดี ขับนานๆ แล้วไม่ปวดหลัง พื้นที่ในรถจัดสรรมาได้กว้างขวาง ขยับเนื้อตัวสะดวก กับมือเปิดประตูที่เป็นเอกลักษณ์ของเขา

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ในช่วงแรกที่เปิดตัว Volvo ในไทยโดยสวีเดนมอเตอร์ส มีทางเลือกให้กับรุ่น 940 GL 2.3 ลิตรหัวฉีดกลไก 131 แรงม้า 940 GLT เครื่องยนต์ 2.3 ลิตร 16 วาล์วทวินแคม 155 แรงม้า และ 960 TURBO 2.3 ลิตร 8 วาล์ว 190 แรงม้า บางคนมักพูดว่า 940 หมายถึง 4 สูบ และ 960 คือ 6 สูบ ไม่ใช่เสมอไปครับ แต่ที่แน่ๆ คือ 940 จะใช้ช่วงล่างหลังคานบิด แต่ 960 จะเป็นช่วงล่างหลังอิสระมัลติลิงก์ แล้วในเวลาต่อมา ก็ปรากฏรุ่น 940 GLE ที่เปลี่ยนเป็นหัวฉีดอิเล็กทรอนิกส์ 135 แรงม้า ประหยัดเชื้อเพลิงขึ้น รุ่น 940 GLT ก็ไปเอาเครื่องเทอร์โบ 8 วาล์ว 190 แรงม้าจาก 960 มาใส่ ในขณะที่ 960 เองก็ขยับไปเป็น 960 3.0 ใช้เครื่องยนต์หกสูบเรียง ที่ร่วมพัฒนาโดย Porsche มีพละกำลัง 204 แรงม้าโดยไม่ต้องพึ่งพาเทอร์โบ

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ในเวลาต่อมา 960 ปรับเปลี่ยนหน้าตาให้ดูไฉไลขึ้น เป็นการไมเนอร์เชนจ์พร้อมกับสร้างจุดเด่นให้แตกต่างไปจาก 940 ในขณะที่ตัว 940 เองนั้นก็ปรับเหลือแค่รุ่นย่อยไม่กี่รุ่น เช่น 940SE เกียร์ธรรมดา/อัตโนมัติ และ 940 CLASSIC ซึ่งเป็นรถปีท้ายๆ แล้วของ 940 ในประเทศไทย ทั้งสองรุ่นใช้เครื่องยนต์ 2.3 ลิตร บวกเทอร์โบแรงดันต่ำ ทำให้มีแรงม้าแค่ 135 แรงม้า แต่แรงบิดกดแล้วดึงดีกว่า 940 GLE ที่ไม่มีเทอร์โบ นอกจากนี้ ถ้าผมจำไม่ผิด 960 ยังเปลี่ยนตัวรองรับน้ำหนักด้านหลังจากสปริงเป็นแหนบไฟเบอร์วางตามขวาง เวลาซื้อโช้ค 960 คนขายจึงมักถามว่าช่วงล่างหลังเป็นแหนบหรือสปริง

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ถ้าถามผมว่ารุ่นไหนน่าเล่น ใน พ.ศ. นี้ พวกรถลอตแรกๆ ปี 91-93 นั้น ส่วนมากแทบไม่เจอสภาพสมบูรณ์แล้ว ส่วนรถรุ่น 940 GLT ที่เป็นเครื่องยนต์แบบ 16 วาล์วนั้น ถ้าเลี่ยงได้เลี่ยงเพราะเครื่องยนต์ระบบไฟ มีปัญหามากกว่าพวกรุ่น 8 วาล์วพอสมควร ตัวเลือกที่น่าสนสำหรับผม คือรถรุ่นไหนก็ได้ที่คุณหาเจอแล้ว หนึ่ง มันมีสภาพดีมาก และสอง เป็นเครื่อง 4 สูบเทอร์โบที่ฟูมฟักโดย Volvo จะเป็นรุ่น 135 หรือ 190 แรงม้าก็ตามแต่ การปรับปรุงขนาดเทอร์โบให้ตรงลักษณะการใช้งาน และการจูนที่ถูกต้อง จะทำให้มันเป็นรถที่ขับสนุกไม่สอดคล้องกับหน้าตาที่ชวนเข้าวัดฟังธรรมของมัน

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

โดยธรรมชาติ รถ 900 Series นั้นจะมีจุดที่พังตามกาลเวลา ภายในมักขาดวิ่นหมดแล้ว รถที่เบาะเดิมแล้วสภาพดี ผมไม่เจอมานานแล้ว อาจต้องบูรณะด้วยการหุ้มหนังใหม่ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยาก หรือถ้าต้องการอะไหล่ชิ้นไหน ก็ลองไปถามในกลุ่มผู้ใช้ซึ่งบางครั้งจะมีการระเบิดอะไหล่ซากรถเก่า บางชิ้นยังดีอยู่เราก็สามารถเอามาใช้ได้ หรือ..ถ้าเราพูดกันว่ามีงบสามแสนบาท บางทีคุณเจียดเงินหลักหมื่นซื้อรถอีกคันมารวมร่างเป็นคันเดียวยังได้เลยครับ ระบบไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ มีความซับซ้อนน้อยกว่าพวกรถเยอรมัน ช่างรุ่นลุงรุ่นน้าในไทยซ่อมได้กันเยอะ

ถ้าคุณจะไปเล่น 960 ก็ต้องเข้าใจว่า เครื่องยนต์ และอะไหล่ช่วงล่างรวมๆ กัน จะมีค่าบำรุงรักษาสูงกว่า 940 บ้าง แต่คุณได้เรื่องความนุ่มนวลนั่งสบายจากช่วงล่างหลังอิสระ และถ้าเลือกรุ่นไมเนอร์เชนจ์แล้ว ก็ได้หน้าตาที่ดูหล่อไปอีกแบบแม้ว่าบางท่านจะมองว่ามันลดทอนเอกลักษณ์คลาสสิกไปบ้างก็ตาม

พยายามเลี่ยงพวกรถบอดี้ยาวพิเศษ เช่น 960 Executive ที่มีขายออกไปจำนวนไม่มาก แน่ล่ะ คุณได้คะแนนรถแปลกหายาก คนที่รู้เรื่องรถดีๆ เห็นแล้วจะกรี๊ด แต่ต้องคำนึงถึงการหาอะไหล่ด้วยครับ

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

SAAB 9000

ใช้แบบสภาพเดิม : ได้

ใช้แบบแต่งสวย : ไม่หลากหลายเท่าเยอรมัน แต่ยังพอมี

เป็นรถหาดูยาก : อาจจะพบสัปดาห์ละครั้ง เพราะคุณไปมีตติ้ง Saab สัปดาห์ละครั้ง

ความยากในการดูแล : ปัญหาเรื้อรังไม่ค่อยมีแต่จำนวนอู่ที่เชี่ยวชาญไม่เยอะ

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

ทำไมผมจึงแนะนำรถแบรนด์ที่ถือว่า ตายไปแล้วจากโลกใบนี้? คำตอบคือ เพราะว่ามันตายแค่ในทางธุรกิจครับ แต่ในปัจจุบันยังมีคนอีกมากที่หลงรักเสน่ห์ของ Saab ที่ “ไม่ว่าโลกจะฮิตเทรนด์อะไร ฉันก็จะเป็นของฉันแบบนี้” แล้ว Saab นั้นก็ไม่ได้แต่จะอินดี้ไปเสียทุกอย่าง บางเรื่องที่เขาใส่ใจในรายละเอียดนั้น เยอรมันกับญี่ปุ่นเองก็อาจจะคิดไม่ถึง เช่นวิธีการจัดวางสวิตช์ การใช้งานที่ง่าย แม้แต่ช่องแอร์ก็สามารถปรับได้ง่ายกว่ารถรุ่นอื่นๆ ลักษณะการจัดวางตำแหน่งสิ่งต่างๆ ในห้องโดยสาร เอามาจากความรู้และทักษะที่ได้จากการสร้างเครื่องบิน เพราะ Saab เองก็สร้างตั้งแต่เครื่องบินใบพัด ยันเครื่องบินรบ การที่ต้องศึกษาว่า นักบินอยู่ในห้องแคบๆ เป็นเวลานาน ต้องดีไซน์เบาะอย่างไร การจัดวางสวิตช์ต่างๆ ให้ใช้ได้รวดเร็วปลอดภัย ต้องทำอย่างไร สิ่งเหล่านี้ก็ถ่ายทอดมาอยู่ในรถของ Saab

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

แต่ 9000 นั้น เป็นรถที่คนมีความชอบแบบแตกเป็นสองเสียง คนที่ไม่ชอบ ก็จะบอกว่า มันไม่ใช่ Saab แท้ เพราะเป็นรถที่เกิดจากความร่วมมือของหลายค่าย ที่ต่างคนก็ต่างต้องการประหยัดงบในการพัฒนา Fiat, Lancia, Alfa Romeo และ Saab จึงลงขันกันสร้าง “Type Four Platform” เป็นโครงสร้างหลัก แล้วต่างฝ่ายต่างก็เอาไปยัดเครื่องยนต์ ช่วงล่างและดีไซน์ตามที่แต่ละค่ายถนัด Saab เองก็เอา Type Four Platform มาเปลี่ยนประตู ให้มีคานเหล็กนิรภัยด้านข้าง เสริมความยาวด้านหน้าพร้อมคานเหล็กนิรภัยเข้าไป เพราะ Saab กับ Volvo มีจุดหนึ่งที่เหมือนกัน คือ บ้าความปลอดภัยแบบสุดๆ ในยุคนั้นคุณจึงเห็น Volvo ทดสอบชน Saab เกทับด้วยการเอารถแขวนสูงเท่าตึกสามชั้นแล้วปล่อยลงมากระแทกพื้น ให้เห็นว่าห้องโดยสารยังคงรูปได้ดี ถ้าคุณยังจำได้ ในไทยเคยมีเคส Saab 900 ตกจากทางด่วน เจ้าของรถรอดมาได้ นั่นล่ะครับคือความปลอดภัยของเขา

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Saab มีเสน่ห์และคล้าย Volvo คือ ความบ้าในเครื่องเทอร์โบ Saab 9000 ที่ขายในบ้านเรายุค 90s นั้น มีตั้งแต่เครื่อง 2.0 ลิตร 130 แรงม้าที่ลากตัวถังได้ก็บุญโขแล้ว ไปจนถึงเครื่องเทอร์โบแบบวันเบาๆ 2.0 ลิตร 150 แรงม้า และตัวจี๊ดอย่างพวกเทอร์โบแรงดันเต็ม 2.3 ลิตร 200 แรงม้า ที่อยู่ใน Saab 9000 CD 2.3 FPT และ 9000 CS รวมถึง CS Aero ซึ่งรถรุ่น CS ทั้งหลายนั้น แม้จะเป็นรถห้าประตู แต่ก็จัดว่าเป็นรถใหญ่ไซส์ 5 Series คันนึง การที่รถบุคลิกแบบนี้ มีเครื่องยนต์เทอร์โบ 200 แรงม้ามาจากโรงงาน ก็บ่งบอกได้ว่าผู้ใหญ่ที่ซื้อรถคันนี้ ยังมีไฟในใจเหลืออยู่มาก แล้วเจ้าเครื่องเทอร์โบพวกนี้นะครับ ก็ควบคุมการจุดระเบิดและจ่ายเชื้อเพลิงด้วย Saab TRIONIC System ซึ่งเป็นกล่องคุมแบบ 32 Bit ในเวลาที่ค่ายเยอรมันยังไม่มีใครทำ กล่อง TRIONIC ของ Saab นั้นเทคโนโลยีล้ำมากจนทำให้สามารถนำไปจูน/รีแมปได้เหมือนรถสมัยใหม่ เครื่องยนต์ของ Saab Turbo ยังมีความทนทานสูงมาก ท่อนล่างเดิมๆ สามารถรองรับม้าระดับ 400 แรงม้าได้ โดยที่ไม่ใช่วิ่งแรงแป๊บเดียวแล้วพังนะครับ

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

แต่ถ้าคุณไม่ได้จะเอา Saab มาทำเป็นรถแรง ก็ยังสามารถใช้ขับในสภาพเดิมๆ ได้อย่างปกติ ถ้าคุณโชคดีได้รุ่นหายากอย่าง 9000 CS Aero นั้น คุณไม่ต้องทำอะไรกับรถมาก ก็ดูสวยแบบ Lean, Clean และ Mean มีเอกลักษณ์การออกแบบที่เป็น Saab น้อยกว่าพวกรุ่นเก่าๆ บ้างเพราะต้องทำดีไซน์ให้ใช้ร่วมกับโครงสร้าง Type Four ได้ แถมรูกุญแจสำหรับสตาร์ต ยังไม่ได้อยู่ที่คอนโซลกลางแบบ Saab รุ่นอื่นๆ แต่เมื่อคุณจอด Saab เคียงข้างรถคันอื่น คุณจะรู้ได้ทันทีว่านี่คือค่ายรถสุดยอดอินดี้จากแดนสวีเดน บางคนก็กล่าวว่า ชาวสวีเดนมีจริตการทำรถที่ใกล้เคียงกันระหว่าง Volvo กับ Saab แต่ Volvo นั้นจะพยายามเน้นการอนุรักษนิยม และความปลอดภัย แต่ Saab มีบุคลิกที่เป็นตัวของตัวเองกว่า แคร์กระแสโลกน้อยกว่า

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

Saab 9000 ที่ขายในไทย มีการไมเนอร์เชนจ์ในช่วงหลังปี 1995 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงที่เครื่องยนต์ไร้เทอร์โบ ทยอยถูกถอดออกจากตารางราคา แทนที่ด้วยเครื่องเทอร์โบแรงดันต่ำความจุ 2.0 ลิตร ถ้าคุณอยากได้ของแปลก มันจะมี Saab 9000CD สี่ประตูรุ่น Griffith ที่ใช้เครื่องยนต์ V6 210 แรงม้า ถ้าเรื่องความหายากล่ะก็ตอบโจทย์ แต่ถ้าคุณทราบว่า นั่นคือเครื่องของ General Motors บางทีคุณอาจจะอยากกลับไปหารุ่น 2.3 Turbo 200 แรงม้ามาเล่นเสียมากกว่า มีของดีประจำค่ายแล้ว ทำไมต้องไปเอาของที่ฝรั่งอเมริกันมันยัดเยียดมาให้เล่า

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

Saab 9000 ไม่ใช่รถที่เกิดมาพร้อมกับความจุกจิก หลายอย่างที่พัง ก็เป็นสิ่งที่รถอายุ 25-30 ปียี่ห้ออื่นเขาพังกัน แต่การเล่น Saab นั้น อย่าสักแต่พารถเข้าอู่แล้วปล่อยให้ช่างซ่อม ในเมืองไทยคนเล่น Saab เก่งๆ มีไม่น้อย เราต้องขยันพูดขยันอ่านและถามความรู้ในการใช้งาน ต้องคอยดูว่าเมื่อรถเป็นอะไร จะไปซ่อมที่ไหนจึงจะจบงานง่ายที่สุด หรือใช้อะไหล่จากที่ไหนจึงจะได้ทั้งความประหยัดเงินและอายุการใช้งาน คุณต้องทำการบ้านมากกว่าการดูแลพวกเบนซ์หรือ BMW เพราะจำนวนอู่ที่ชำนาญมีน้อยกว่า แหล่งหาอะไหล่มีน้อยกว่า ต้องหาคนที่รู้เรื่องในการประสานงานจัดหาให้

ลองไหมล่ะ! 8 ซีดานใหญ่ เก่าแต่เก๋าในงบสามแสน (ตอนที่ 2)

แต่ถ้าคุณยินดีจะใช้สมองกับเรื่องเหล่านี้ รางวัลที่คุณจะได้ตอบแทนคือรถที่มีความปลอดภัย โครงสร้างแข็งแรง มีความทันสมัยหรูหราเทียบชั้นได้กับรถเยอรมัน แต่ได้ความสนุกจากบุคลิกการขับขี่ที่ทั้งแรงและคล่องแคล่วแม้จะใช้ช่วงล่างแบบเดิมๆ Saab 9000 คือรถที่คุณจะใช้เพื่อป่าวประกาศให้ทุกคนทราบว่า คุณเป็นนักเล่นรถตัวจริง และความมีเอกลักษณ์ของแบรนด์รถนั้น สำคัญกว่าการเลือกรถเพื่อให้ตัวเองดูรวย

และทั้งหมดนี้ก็คือตอนที่ 2 ของบทความ ซีดานใหญ่ในงบสามแสน (มีแฮตช์แบ็กโผล่มาด้วยหนึ่ง) หวังว่าใครที่กำลังมองหาหนทางเป็นเจ้าของรถในตำนาน คงจะได้ไอเดียว่ารถแบบไหนเหมาะกับคุณ และถึงคุณจะไม่มีโครงการซื้อรถใหม่ ผมเชื้อว่ารถที่ผมเขียนถึงไปนั้น น่าจะเคยอยู่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวัยเด็กของคุณ ถ้ามันทำให้คุณคิดถึงรถในวัยเด็กและวันอันแสนสุขเหล่านั้น ก็อย่าลืมแชร์บทความนี้ แบ่งปันให้เพื่อนๆ มานั่งนึกถึงวันเก่าๆ กันครับ.

Pan Paitoonpong