เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.นายณรงค์ ทรงอารมณ์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กล่าวว่า จากการประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) ได้มีมติ เรื่อง กรณีพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานต์ โดยตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อสารมวลชน กรณีพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สิน และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ส่งผลกระทบต่อความศรัทธาและความเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนนั้น
พศ.เห็นควรนำเสนอมส.เพื่อโปรดทราบ เพื่อมีมาตรการป้องกันเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ที่ประชุมมส.มีมติรับทราบ และให้พศ.ดำเนินการ ดังนี้ 1.แจ้งเจ้าคณะจังหวัดทั้ง 2 ฝ่าย ทราบ เพื่อแจ้งเจ้าคณะผู้ปกครองใกล้ชิดตามลำดับ สอดส่อง ดูแล กำชับให้พระภิกษุสามเณรปฏิบัติเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัย กฎหมายบ้านเมือง และจารีตประเพณี2.แจ้งมติมส.นี้ ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการตรวจตรา การขับขี่รถยนต์ และจักรยานยนต์ของพระภิกษุสามเณรเยี่ยงประชาชนทั่วไป
นายณรงค์ กล่าวต่อไปว่า นับเป็นครั้งแรกที่มส.มีมติให้แจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดำเนินการกับพระภิกษุสามเณรที่ขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยบังคับใช้กฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป ซึ่งจะต่างจากแต่ก่อนที่เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ส่วนใหญ่จะปล่อยตัวไป หรือนำตัวไปให้เจ้าคณะผู้ปกครองตักเตือนเท่านั้น แต่หลังจากมีมติมส.นี้ไปแล้ว
เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ จะสามารถบังคับใช้กฎหมายจราจรได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไปได้ทันที ทั้งนี้ขอแจ้งไปถึงพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศด้วยว่า ถ้าไม่มีความจำเป็นจริงๆไม่ควรที่จะขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ นอกจากจะไม่เหมาะสมแล้ว หากเกิดอุบัติเหตุขับไปชนคนเสียชีวิต จะส่งผลให้มีความผิดทางวินัยเข้าขั้นอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นสงฆ์ ไม่สามารถกลับมาบวชใหม่ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีเพียงคณะสงฆ์หนเหนือเท่านั้น ที่มีมาตรการเกี่ยวกับการห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยได้มีประกาศคณะสงฆ์หนเหนือ เรื่อง ห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์และระเบียบคณะสงฆ์หนเหนือว่าด้วยการห้ามพระภิกษุสามเณร ขับรถยนต์ หรือจักรยานยนต์ พ.ศ.2557
โดยมีสาระสำคัญคือ ห้ามพระภิกษุสามเณรขับขี่รถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ไปตามท้องถนน หรือที่สาธารณะ ยกเว้นการทำงานในวัด แต่ให้อยู่ในดุลยพินิจของเจ้าอาวาส หากละเมิด ให้เจ้าอาวาสว่ากล่าวตักเตือน หากยังทำผิดซ้ำเป็นครั้งที่ 2 และ 3 ให้ลงโทษตามสมควร และรายงานความผิดไปยังเจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ และเจ้าคณะจังหวัดตามลำดับหากผู้ที่กระทำความผิดเป็นพระสังฆาธิการ ตั้งแต่ระดับผู้ช่วยเจ้าอาวาสขึ้นไป เมื่อว่ากล่าวตักเตือนแล้ว 3 ครั้ง ยังกระทำความผิดอีก จะถูกลงโทษโดยระงับการขอตำแหน่ง และสมณศักดิ์ ตั้งแต่ 1-3 ปี
As part of their spo…
This website uses cookies.