โอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการท่ามกลางบรรยากาศเรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยคว้าประทับใจ พร้อมส่งต่อให้ กรุงปารีส เจ้าภาพครั้งต่อไป ในปี 2024 ที่จะเป็นเจ้าภาพ ครบรอบ 100 ปีจากครั้งล่าสุดที่ได้รับเลือก
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ 32 โตเกียว 2020 มีพิธีปิดฉากการแข่งขันอย่างเป็นทางการที่โอลิมปิก สเตเดียม กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม โดยพิธีปิดเริ่มขึ้นเมื่อเมื่อเวลา 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น หรือเร็วกว่าเวลาประเทศไทย 2 ชม. โดยมี เจ้าชาย อากิชิโนะ เสด็จเป็นผู้แทนพระองค์ร่วมพิธี ร่วมด้วย โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี), คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล คณะกรรมการโอลิมปิกสากลชาวไทย (ไอโอซีเมมเบอร์) รวมทั้งผู้นำญี่ปุ่น และคณะกรรมการจัดการแข่งขัน
ญี่ปุ่นเปิดโอลิมปิกเกมส์ 2020 ยุคโควิด สุดยิ่งใหญ่อลังการ
รวมภาพบรรยากาศพิธีเปิด โอลิมปิกเกมส์ 2020
พิธีปิดเริ่มจากตัวแทนแต่ละชาติทั้ง 206 ประเทศ ถือธงเข้าสู่สนามโดยของไทยมี แต้ว” สุดาพร สีสอนดี นักชกสาวฮีโร่เหรียญทองแดง รุ่นไลต์เวต 60 กก.เป็นผู้ถือธง จากนั้นเจ้าภาพจัดแสดงในพิธีปิดโดยยึดแนวคิด “เวิลด์ส วี แชร์” หรือ “โลกที่เราร่วมกันแบ่งปัน” โดยเป็น วิดีทัศน์ถ่ายทอดเรื่องราวตลอดการแข่งขัน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากนั้นนักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของแต่ละชาติ ได้เดินเข้าสู่สนามตามมา ซึงของไทยมี “บิ๊กต้อม” ธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาไทย และเจ้าหน้าที่ของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ รวมทั้ง “บิ๊กก้อง” ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งเจ้าภาพได้จัดจอแฟนวิดีโอ แมทริกซ์ ขนาดใหญขึ้น เพื่อให้แฟนๆ ได้เข้าระบบออนไลน์ชมพิธีปิดในสนามไปพร้อมกันด้วย
จากนั้นเป็นการแสดงแสงสีเสียง วงแหวนโอลิมปิก พร้อมพลุอีก 300 นัด ต่อด้วยการแสดงดนตรีกลางสนาม โดย โตเกียว สกา พาราไดซ์ ออเครสตา, วงดุริยางค์ โตเกียว เมโทโปลิแตน จากโรงเรียน คาตาซึระ, ดีเจ มัตซึนากะ ดีเจแชมป์โลกปี 2019 และมิเลต นักร้องนักแต่งเพลงชื่อดัง ซึ่งในรายชื่อมีเพลง ซุกิยากิ เพลงดังของญี่ปุ่น ที่ขับร้อยโดย เคียว ซากาโมโตะ ซึ่งเคยขึ้นอันดับ 1 บิลบอร์ดมาแล้ว
หลังจากนั้นเป็นมอบเหรียญรางวัลให้กับ นักกีฬาประเภทมาราธอน ทั้ง หญิง และชาย ต่อด้วยการแสดงอีกชุดของญี่ปุ่นเป็นการขอบคุณเจ้าหน้าที่อาสาสมัครกว่า 51,672 คน ที่มีส่วนร่วมช่วยให้โอลิมปิก โตเกียว 2020 ผ่านพ้นไปด้วยดี จากนั้นเป็นการแสดงวิดิทัศน์ การวัฒนธรรมการเต้นของจาก 4 ภูมิภาคทั่วญี่ปุ่น สู่การเต้นปัจจุบัน
จากนั้นเข้าสู่การแสดงในพิธีรับธงเจ้าภาพ โอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ซึ่งฝรั่งเศสจะเป็นเจ้าภาพในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยได้มีการเชิญธงโอลิมปิกสากล ลงสู่ยอดเสา จากนั้นเป็นการส่งมอบธงเจ้าภาพ จาก ยูริโกะ โคอิเคะ ผู้ว่าราชการกรุงโตเกียว ส่งให้ โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และส่งต่อให้ อานน์ อิดัลโก้ นายกเทศมนตรีกรุงปารีส จากนั้นเป็นการแสดงต่อเนื่อง 3 ชุดของเจ้าภาพครั้งต่อไป
ชุดที่ 1 “ลา มาร์แซแยซ” Takes Over Paris ซึ่งเป็นชื่อของเพลงชาติฝรั่งเศสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน นำเสนอผ่านแลนด์มาร์กสำคัญของปารีส บรรเลงด้วยวงออร์เคสต้าชั้นนำ และมี โธมัส เปสเกต์ นักบินอวกาศชาวฝรั่งเศส เป็นแขกรับเชิญพิเศษ ร่วมบรรเลงเพลงดังกล่าวผ่านแซกโซโฟนจากสถานีอวกาศนานาชาติที่โคจรผ่านน่านฟ้า ญี่ปุ่น พอดิบพอดี
ชุดที่ 2 “ไรด์ โอเวอร์” The Rooftops of Paris ดาดฟ้าของกรุงปารีส นำเสนอโดยรถจักรยาน บีเอ็มเอ็กซ์ ปั่นผ่านดาดฟ้าของสถานที่สำคัญ อาทิ หอนาฬิกาแห่งพิพิธภัณฑ์ออร์แซ (มูว์เซดอร์แซ), ประตูชัยฝรั่งเศส (อาร์กเดอทรียงฟ์เดอเลตวล), พระราชวังหลวง (ปาแล-รัวยาล), โรงอุปรากร ปาแลการ์นีเย่
ชุดที่ 3 “ดิ ไอเฟล ทาวเวอร์” As Flag Bearer ซึ่งจะเป็นการชักธงเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์บนหอไอเฟล สัญลักษณ์แห่งกรุงปารีส โดยธงขนาดสูง 90 เมตร กว้าง 60 เมตร ซึ่งจะเป็นธงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เกือบเทียบเท่า 1 สนามฟุตบอล และจะทำให้ หอไอเฟล บันทึกสถิติใหม่เป็น เสาธง ที่สูงที่สุดในโลกของกินเนสบุ๊ก ออฟ เวิลด์ เรคคอร์ด พร้อมคำพูดรับไม้ต่อ ของ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิปดีฝรั่งเศส ต่อเนื่องด้วยการบินผาดโผนของฝูงบินรบ พาตโทรเย อโครบาติก ลา ฟรองซ์ ที่บินผ่านหอไอเฟล พร้อมไอพ่นสีธงชาติฝรั่งเศส พร้อมด้วยการขอบคุณกรุงโตเกียวเจ้าภาพครั้งนี้ เป็นภาษาญี่ปุ่น และ ฝรั่งเศส
โดยในช่วงท้าย โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ได้มีการกล่าวปิดพิธี และขอบคุณเจ้าภาพในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้การจัดการแข่งขันผ่านไปได้ด้วยดีภายใต้สถานการณ์การระบาดโควิด -19 พร้อมกล่าวปิดการแข่งขันโตเกียวเกมส์ 2020 และไฟในกระถางคบเพลิงก็ได้ดับลง พร้อมกับพลุไฟที่จุดขึ้นรอบสนาม และคำว่า Arigatou (ขอบคุณ)
สำหรับ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เคยเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก ฤดูร้อน มาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อปี 1900 และ 1924 ทำให้ใน โอลิมปิก ปารีส 2024 กรุงปารีส จะเป็นเมืองที่ 2 ที่ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 3 ครั้ง ต่อจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ได้เป็นเจ้าภาพ ไปเมื่อปี 1908, 1948 และ 2012 และเมื่อถึงช่วงปารีส เกมส์ 2024 จะครบรอบ 100 ปี ที่กรุงปารีส จะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้งพอดี ซึ่งโอลิมปิก ปารีส 2024 กำหนดแข่งขันวันที่ 26 กรกฎาคม-11 สิงหาคม 2024 ใน 32 ชนิดกีฬา รวม 329 เหรียญทอง ภายใต้คำขวัญ Made for sharing หรือ ทำขึ้นเพื่อแบ่งปัน
สรุปเจ้าเหรียญทอง โอลิมปิก โตเกียวเกมส์ 2020
1.สหรัฐอเมริกา คว้าไป 39 เหรียญทอง 41 เหรียญเงิน 33 ทองแดง
2.จีน คว้าไป 38 เหรียญทอง 32 เหรียญเงิน 18 ทองแดง
3.ญี่ปุ่น คว้าไป 27 เหรียญทอง 14 เหรียญเงิน 17 ทองแดง
4.สหราชอาณาจักร คว้าไป 22 เหรียญทอง 21 เหรียญเงิน 22 ทองแดง
5.คณะโอลิมปิกรัสเซีย 20 เหรียญทอง 28 เหรียญเงิน 23 ทองแดง
59.ไทย 1 เหรียญทอง 0 เหรียญเงิน 1 ทองแดง