ฮอนด้า-ยามาฮ่า ขานรับนโยบายมอเตอร์ไซค์อีวี ระบุถ้าชัดดีมานด์และราคาตอบโจทย์พร้อมลุยเต็มสูบ เผยเทคโนโลยีมีครบ
ตามที่นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดมาตรการส่งเสริมการลงทุนยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า หรือรถอีวี ได้มีการทบทวนและหารือกันใหม่อีกครั้ง หลังจากสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นขอมาตรการส่งเสริมทั้งแพ็กเกจอีวีไปแล้วเมื่อปี 2561 พบว่ายังมีนักลงทุนหลายรายมีความพร้อมที่จะลงทุนรถอีวีโดยเฉพาะรถไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (BEV) ลงทุนตัวแบตเตอรี่ และสถานีชาร์จมากขึ้น
ดังนั้น บีโอไอมีแผนจะเสนอแพ็กเกจรถอีวีใหม่เข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ในต้นเดือน พ.ย. 2563 นี้
โดยมาตรการใหม่เตรียมเสนอจะยังคงใช้เครื่องมือเรื่องของการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลคงไว้ที่สูงสุด 8 ปี ซึ่งอาจแตกต่างกันในจำนวนปีของแต่ละประเภท (มอเตอร์ไซค์ ตุ๊กตุ๊ก 3 ล้อ รถสาธารณะ) รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นอากรขาเข้าชิ้นส่วน และจะเพิ่มประเภทให้ครอบคลุมไปถึงรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊ก 3 ล้อ รวมถึงเรือไฟฟ้า และกำหนดเงื่อนไขชิ้นส่วนที่ต้องเป็นตัวหลัก ต้องผลิตในประเทศจำนวนกี่ชิ้น อะไรบ้าง
นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้า จำกัด เปิดเผยว่า จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอได้ทบทวนแพ็กเกจเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการลงทุนสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีในการก่อให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่องสำหรับประเทศไทย
โดยเฉพาะหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นไปในลักษณะใกล้เคียงกับที่รัฐบาลให้การส่งเสริมรถยนต์อีวี ซึ่ง เอ.พี.ฮอนด้ามีความสนใจอย่างแน่นอน ทั้งนี้บริษัทยังต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาความพร้อมรายละเอียดของโครงการดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อพิจารณาถึงการลงทุนในอนาคต จากการศึกษาพฤติกรรมของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ผู้ใช้จะให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ความสะดวกสบายเป็นหลัก” และบริษัทพยายามที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั้งในเรื่องของระยะเวลาในการชาร์จแบตเตอรี่ ระยะยางในการวิ่ง ประสิทธิภาพในการใช้งาน และต้นทุนในการผลิตนั้น เอ.พี.ฮอนด้าได้พยายามเพื่อแก้โจทย์ดังกล่าว โดยขณะนี้สามารถตอบโจทย์ได้ในส่วนของระยะทางและระยะเวลาในการชาร์จไฟ รวมถึงประสิทธิภาพในการใช้งานให้ไม่แตกต่างจากรถจักรยานยนต์ขนาด 125 ซีซีได้ แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในส่วนของต้นทุนการผลิต ซึ่งบริษัทยังต้องใช้เวลาในการศึกษาอีกพอสมควร
“ตอนนี้เราแก้โจทย์การเปลี่ยนแบตเตอรี่ในการใช้งานโดยการเปลี่ยน 1 ครั้งกับแบตเตอรี่ 2 ลูก รถวิ่งได้เป็นระยะทางถึง 50 กิโลเมตร ที่สถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ในโครงการทดลอง วินสะอาดที่เพิ่งเปิดตัวไป ส่วนประสิทธิภาพในการใช้งานไม่ได้แตกต่างจากรถจักรยานยนต์ที่มีขนาด 125 ซีซีแต่อย่างใด”
เช่นเดียวกับนายพงศธร เอื้อมงคลชัย ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ที่ยอมรับว่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้านั้นยังไม่มีความคุ้มค่าสำหรับคนไทย และยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องของประสิทธิภาพการขับขี่ กับความประหยัดได้เท่ากับรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์ธรรมดา
ยังมีราคาจำหน่ายค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการใช้งาน
ดังนั้น เชื่อว่าสำหรับประเทศไทยยังต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรในการพัฒนา เพื่อให้รถจักรยานนต์ไฟฟ้าสามารถตอบโจทย์การใช้งานที่แพร่หลายยิ่งขึ้น
แต่ทั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีหลังจากบีโอไอมีความชัดเจนว่า พร้อมให้การส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุน ตรงนี้แม้ว่ายังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจนออกมา แต่ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี
สำหรับยามาฮ่าเองมีเทคโนโลยีนี้อยู่แล้วในต่างประเทศ ซึ่งหากประเทศไทยมีความชัดเจน และตลาดมีความต้องการ บริษัทก็สามารถนำเข้ามาเพื่อตอบสนองความต้องการได้ทัน ส่วนเรื่องการลงทุนนั้นคงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง
This website uses cookies.