ธุรกิจสินเชื่อ ความท้าทาย และโอกาสครึ่งปีหลัง 64 “เคทีซี” ปรับกลยุทธ์เน้นโตอย่างระมัดระวัง รักษาพอร์ต 2.94 หมื่นล้าน – Brand Buffet

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลากยาวมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจ “สินเชื่อ” ได้รับผลกระทบอย่างมาก เพราะแม้ว่าผู้บริโภคมีความต้องการสินเชื่อสูงขึ้น แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอ กำลังซื้อของคนในประเทศหดตัว การปล่อยสินเชื่อจึงเข้มงวดมากขึ้น จนทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ในช่วง 6 เดือนแรกของปีไม่คึกคัก คำถามคือ แล้วสถานการณ์ธุรกิจสินเชื่อในครึ่งปีหลังของปี 2564 นี้ จะเป็นอย่างไร ต้องเจอโจทย์ท้าทายเรื่องอะไรบ้าง มาฟังมุมมองจาก “บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)” หรือ “KTC” พร้อมกลยุทธ์การปรับตัวและรับมือให้เข้ากับสถานการณ์ที่อัดแน่นด้วยความไม่แน่นอน

– Advertisement –

ชี้ โควิด-19 กระทบธุรกิจสินเชื่อบุคคล-เคทีซี พี่เบิ้ม

นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 ธุรกิจสินเชื่อ ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ต้องเจอความท้าทายรอบด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจซบเซา อัตราการว่างงานสูง กำลังซื้อหด และการแข่งขันรุนแรงจากการเข้ามาทำตลาดของผู้เล่นรายใหม่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ ยิ่งเมื่อมาเจอการระบาดซ้ำอีก ทำให้ตลาดสินเชื่อในปี 2564 กลับท้าทายมากขึ้น

“ตอนนี้เราอยู่ในโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง สถานการณ์เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่เราต้องทำคือ การเตรียมตัวตั้งรับกับการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา”

คุณพิชามน จิตรเป็นธรรม ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร-ธุรกิจสินเชื่อบุคคล บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เคทีซี ฉายภาพความท้าทาย และบอกว่า ภาพรวมสินเชื่อครึ่งปีแรกอยู่ที่ 637,849 ล้านบาท โดยมีสินเชื่อเกิดใหม่มากถึง 58,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันถึง 49,000 ล้านบาท ขณะที่เคทีซี มียอดลูกหนี้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 29,480 ล้านบาท ลดลง 2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีฐานลูกค้าจำนวน 802,971 ราย โดยมีการปล่อยสินเชื่อในช่วง 7 เดือนแรกของปี ลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับก่อนจะเกิดโควิด

ส่วนสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ คุณเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ-ธุรกิจสินเชื่อ เคทีซี พี่เบิ้ม บอกว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ตลาดมียอดสินเชื่อรวม 158,000 ล้านบาท เติบโต 17% ส่วนใหญ่เป็นการให้สินเชื่อจากนอน-แบงก์ ขณะที่การปล่อยสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม” ในช่วง 6 เดือนแรกยังไม่ถึง 50% ของเป้าหมายทั้ง 1,000 ล้านบาทที่ตั้งไว้ เนื่องจากเคทีซีเพิ่งเข้ามาทำตลาดเมื่อสิงหาคมปีที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด

โอกาสและความท้าทายของธุรกิจสินเชื่อครึ่งปีหลัง

สำหรับในครึ่งปีหลัง คุณพิชามน ให้มุมมองว่า ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลยังต้องเจอแรงกดดันที่ท้าทายต่อเนื่อง โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว อัตราการว่างงานสูง ทำให้รายได้ครัวเรือนลดลง ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง

ขณะที่ตลาดสินเชื่อจำนำรถ นอกจากจะเจอแรงกดดันจากสภาพเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวแล้ว ยังต้องเผชิญกับมาตรการล็อคดาวน์ และมาตรการปรับลดเพดานดอกเบี้ยใหม่ ที่อาจกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการ แต่ขณะเดียวก็เกิดผลบวก ช่วยลดหนี้เสีย และทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น

“เราต้องการเติบโตแต่ต้องโตอย่างระมัดระวังและมั่นคง เราไม่อยากจะก้าวเร็วแล้วเจ็บทีหลัง เราอาจจะก้าวช้าหน่อยแต่ลูกหนี้มีคุณภาพ”

คุมเข้มสินเชื่อ-เปิดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ พ่วงบัตรกดเงินสด ขยายฐานลูกค้า

สำหรับกลยุทธ์การทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลในช่วงที่เหลือจากนี้ เคทีซีจะดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น เพื่อรักษาพอร์ตให้ทรงตัว โดยเน้นกลยุทธ์ 2 ส่วน คือ การทำแคมเปญรักษาฐานลูกค้าเก่า และการขยายฐานลูกค้าใหม่ด้วยการเข้าไปเจาะตลาดที่ยังไม่มีใครทำ โดยล่าสุดได้อัพเกรดผลิตภัณฑ์ใหม่เป็น “สินเชื่อทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมบัตรกดเงิน เคทีซี พี่เบิ้ม” ที่สามารถรูด-โอน-กด ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของวงการสินเชื่อไทยที่มีการออกผลิตภัณฑ์ลักษณะนี้ เพื่อให้คนไทยที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อได้มีเงินทุนหมุนเวียนในการต่อยอดใช้จ่ายสิ่งจำเป็น เหมาะสำหรับผู้มีรถมอเตอร์ไซค์และมีเล่มทะเบียนเป็นชื่อตนเอง โดยชูจุดเด่นผลิตภัณฑ์ “กู้ง่าย ได้ไว อนุมัติรับเงินก้อนใหญ่พร้อมบัตรกดเงินสด” โดยที่สมาชิกสามารถนำรถมอเตอร์ไซค์ไปใช้ต่อได้ อีกทั้งยังรับวงเงินสินเชื่อแบบหมุนเวียน และเบิกถอนวงเงินจากบัตรกดเงินสดเพื่อใช้ยามฉุกเฉินได้

ขณะที่กลยุทธ์ของธุรกิจสินเชื่อแบบมีหลักประกันในครึ่งปีหลังนี้ เคทีซีจะเน้นขยายพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้มีความหลากหลายครอบคลุมกลุ่มลูกค้ามากขึ้น จากการมีกรุงไทยธุรกิจ ลีสซิ่ง (KTBL) เข้ามาเสริมทัพ ทำให้สามารถนำเสนอสินเชื่อทะเบียนรถแบบโอนเล่ม การทำรีไฟแนนซ์สินเชื่อทะเบียนรถ และการทำสินเชื่อรถยนต์มือสอง ซึ่งจะเริ่มในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในขั้นตอนการสมัครและอนุมัติสินเชื่อ ทำให้ลดขั้นตอนการสมัครอยู่ที่ประมาณ 1.5 ชั่วโมง ตลอดจนขยายพื้นที่ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศในปีนี้ และทำให้คนได้รู้จักเคทีซี พี่เบิ้ม มากขึ้น เพื่อให้คนเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวก่อนใครได้ทุกช่องที่