ด้วยความเคยชินกับการทำงานที่แข่งกับเวลา ต้องตัดสินใจเร็ว ปรับตัวเร็ว จึงเป็นเรื่องยากมาก ที่ผู้เขียนจะหาเวลาหยุด หรือ นิ่งได้นานๆ
แม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า การมองข้างทาง การหยุดพักสายตา การแวะในจุดที่เราอาจจะผ่านแล้วผ่านเลย เป็นเรื่องจำเป็นไม่มากไม่น้อยไปกว่าจุดหมายปลายทาง
และเผลอๆ บางครั้งอาจสำคัญกว่าด้วยซ้ำ ในกรณีที่ชีวิตพาให้วกเวียนเรียนรู้จนพบว่า จุดหมายที่เคยคิดตั้งแต่แรก อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรไป และระหว่างทางที่ไม่เคยคิดจะแวะพัก อาจเป็นจุดหมายที่ไม่เคยตั้งใจไปมาก่อน
ทั้งหมดทั้งปวง การจะลงหลักปักฐานเชื่อในสิ่งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับว่า เราจะคว้าจังหวะ หรือ โมงยามที่ผ่านมานั้นได้หรือไม่ ถ้าโชคดี ชีวิตอาจพาเรากลับมาจุดนั้นอีกครั้ง แต่จากประสบการณ์แล้ว โชคที่ดี จังหวะที่ดี ชั่วครู่ชั่วยามที่ดี มักไม่เคยย้อนกลับมาอีกเลย
ถึงเวลาที่ต้องหาจังหวะหยุดพัก เพื่อนฝูงก็เลยเอ่ยปากชวนให้ลองไปเรียนดริปกาแฟด้วยกันสักรอบ เอ่ยปากชวนแล้ว เพื่อนก็ปลงๆ ว่าผู้เขียนน่าจะไม่ไปอีกตามเคย แต่บ่ายวันเสาร์นั้น…แตกต่างออกไป ผู้เขียนคว้าโอกาสนั้นไว้ ไม่ได้คิดว่าการเรียนจะต้องสมบูรณ์แบบ ไม่ได้คิดว่าจะกลายเป็นนักดริปในตำนานอะไรในชั่วข้ามคืน แค่ไม่อยากกดข้าม ปัดทิ้ง เลื่อนผ่าน จังหวะที่รู้สึกว่าอาจจะดีกับชีวิตก็เท่านั้น
คนดื่มกาแฟเป็นประจำอย่างผู้เขียน อาจจะดื่มด่ำไปตามเรื่องตามราวกับการได้นั่งจิบกาแฟ อ่านหนังสือ หรือทำงาน แต่กระบวนการได้มาซึ่งกาแฟสกัดผ่านกระบวนการดริป ถือเป็นอีกเรื่อง อีกประสบการณ์ เพราะพบว่าทุกอย่างล้วนต้องตระเตรียมตั้งแต่ อุณหภูมิของน้ำ รูปแบบการเทน้ำ เมล็ดกาแฟ เวลาที่ใช้ ล้วนมีผลกับรสชาติแทบทั้งสิ้น
แต่ทั้งหมดนั้น…เมื่อสกัดออกมาแล้ว มันเป็นเรื่องเดียวกับการรอคอยเวลาที่เหมาะสม ลืมคำว่ารีบไปก่อน ลืมให้สนิท
การปลุกหรือจังหวะของการ Blooming หรือการปลุกกาแฟให้ตื่น ให้คายกลิ่นออกมานั้นมีครั้งเดียว ยาวนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับสัดส่วนของกาแฟและน้ำ ถ้าตำราบอกว่า 30 วินาทีแรก มันก็มีแค่ 30 วินาทีแรกเพียงครั้งเดียว ถ้าผ่านเลยไปแล้ว คงเรียกว่า 30 วินาทีแรกไม่ได้
การดริปในชั่วโมงแรก เต็มไปด้วยความเก้ๆ กังๆ เต็มไปด้วยความอยากทำให้ถูกต้องมากกว่าที่จะปล่อยให้ความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างเพื่อจะได้ค่อยๆ เรียนรู้ไปตามธรรมชาติ
แต่คนสอนใจเย็นมากพอที่จะบอกว่า “ไม่เป็นไร เอาใหม่ กลับมาจุดเดิม”
อยู่กับช่วงเวลานั้นอย่างตั้งใจให้ได้…อยู่กับมันไป
พอๆ กับการชงชา…การอยู่กับช่วงเวลานั้นให้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีใครสอนได้ แต่ชาที่อร่อย หรือไม่อร่อยนั่นแหละที่จะสอนเรา มันคือผลของการปล่อยผ่าน หรือไม่ปล่อยผ่านอย่างแท้จริง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการเลือกของเราในตอนนั้น ข้ึนอยู่กับว่าเราเห็นอะไรสำคัญ รสชาติที่ดีพอที่จะดื่ม หรือ ทำๆ ไปพอให้ช่วงเวลานั้นผ่านพ้น
“ถ้าอยากพบใคร ต้องไปพบให้ได้ ถ้ามีคนที่ชอบอยู่ ต้องบอกให้รู้ว่าชอบ เมื่อดอกไม้บาน จงเฉลิมฉลอง เมื่อรู้สึกรัก จงรักให้หมดใจ และเมื่อสุขใจ ให้แบ่งปัน…ในเวลาที่มีความสุข จงโอบกอดความสุขนั้นไว้ และดื่มด่ำกับมันให้เต็มร้อย บางทีนี่อาจเป็นเพียงหนทางเดียวที่คนเราจะทำได้” จากหนังสือ ทุกวันเป็นวันที่ดี สำนักพิมพ์ Bibli
เพราะบางจังหวะเวลาเมื่อมองย้อนกลับไป มันอาจดีกว่าถ้าเราอยู่กับมันได้อย่างแท้จริงและมองเห็นความสวยงามในชั่วขณะนั้น
หลักปรัชญา อิชิโกะ อิชิเอะ (Ichigo Ichie) ก็บอกไว้ไม่ต่างกัน ตัวอักษรภาษาญี่ปุ่น แค่สั้นๆ หมายความว่า
“สิ่งที่เราพบเจอในตอนนี้ จะไม่มีวันเกิดซ้ำอีก”
มนุษย์ผู้วุ่นวายกับชีวิตแต่ละวัน น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตที่พลาดช่วงเวลานั้นมากที่สุดแล้วในประวัติศาสตร์โลก
ภาพประกอบของบทความนี้ เป็นภาพที่เกิดขึ้นในชั่วขณะแบบนั้น…จำได้ว่าทริป นั้นเป็นทริปที่ผู้เขียนต้องเดินทางขึ้นดอยเพื่อไปทำสารคดีท่องเที่ยวที่เชียงใหม่
ขณะที่พวกเราขับรถกลับที่พักในตอนเช้าวันนั้น เป็นช่วงเวลาที่ทุกคนสะลึมสะลือ สติยังไม่ค่อยกลับเข้าร่าง แต่แล้วที่โค้งตรงหน้านั้น แสงแดดยามเช้าก็สาดลงมา
กลางดงต้นไม้แบบพอดิบพอดี ความสวยงามในวินาทีนั้น เหมือนเรากำลังอยู่ ณ จุดชมวิวที่ไม่มีใครบอกว่ามี ไม่มีใครแนะนำให้มา
ผู้เขียนก็เสี่ยงไม่น้อยที่บอกให้คนขับจอดรถตรงโค้ง แล้วขอถ่ายภาพนั้นไว้ เพื่อนที่นั่งอยู่ข้างหลังรถ เลยกดถ่ายภาพนั้นไว้ด้วยเช่นกัน เสร็จสิ้นภารกิจนั้น เราขับรถผ่านจุดนั้นโดยสวัสดิภาพ และชั่วขณะนั้นก็ผ่านเราไปแล้วเช่นกัน ตลอดเส้นทางนั้นจนถึงที่พัก พวกเราไม่พบภาพแบบนั้นอีกเลย
กาแฟ ชา และภาพที่สวยงามตรงหน้า มีคำกิริยาหนึ่ง ที่ใช้ตรงกันนั่นคือ ดื่ม…
ดื่มด่ำกับ ณ ขณะนั้น เพื่อที่ถ้าวันหนึ่ง ได้มองย้อนกลับไป เราจะได้มีเรื่องเล่าที่เริ่มต้นได้ว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว… เพราะถ้าไม่มีจุดเริ่มต้นของชั่วขณะนั้นที่เราไม่ยอมให้พลาดไป
วันข้างหน้า หรือ วันนี้ ก็คงไม่รู้ว่าจะเล่าอะไรให้ใครฟัง
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ภาพ: thailandetcetera