ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า เมื่อปี 2561 มูลนิธิไทยโรดส์ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ 1,529,808 คน ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมทุกจังหวัด พบว่า ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสวมหมวกกันน็อกเพียง 45% แบ่งเป็นผู้ขับขี่ 52% และผู้โดยสาร 22% ซึ่งงานวิจัยโดยศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ระบุว่า การสวมหมวกกันน็อกช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะในผู้ขับขี่ได้ 43% และผู้ซ้อนท้าย 58% ทั้งนี้ สถิติความรุนแรงของโควิด-19 ในประเทศไทย ผู้ติดเชื้อ 100 คน จะเสียชีวิตราว 2 คน
ขณะที่ข้อมูลจากกรมทางหลวงพบว่าอุบัติเหตุทางถนนทุก 100 ครั้ง จะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 15 คน โดยอุบัติเหตุกว่า 84% เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ ดังนั้น ภัยบนท้องถนนจึงน่ากลัวไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าโรคภัยไข้เจ็บ ที่ผ่านมาเราได้เห็นความสามัคคีของคนในชาติ สวมใส่หน้ากากผ้าป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ความสามัคคีนี้ทำให้สถานการณ์การติดเชื้อภายในประเทศดีขึ้น สสส.และภาคีเครือข่ายจึงหวังว่าหากคนไทยร่วมมือกัน สวมใส่หมวกกันน็อกทั้งคนขี่และคนซ้อน จะช่วยลดตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตบนท้องถนนลงได้มาก จึงขอเชิญชวนคนไทยร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ “สวมหมวก+ใส่แมสก์”
ด้าน น.ส.เครือมาศ ศรีจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต กล่าวว่า อยากเห็นคนสวมหมวกกันน็อกเพิ่มมากขึ้นเหมือนกับช่วงที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่คนมีวินัยรับผิดชอบสังคมร่วมกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เนื่องจากแต่ละปีมีเด็กและเยาวชนต้องกลายเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2,000 คน พร้อมกับสื่อสารขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ดื่มไม่ขับ และมีน้ำใจต่อเพื่อนร่วมทาง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบาง อาทิ คนเดินเท้า และรถจักรยาน.
This website uses cookies.