ที่มา | หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | นที ศรีพารัตน์ |
เผยแพร่ |
สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญใน อ.แม่สอด จ.ตาก สุดชายแดนทิศประจิมของไทยติดกับเมืองเมียวดี รัฐกระเหรี่ยง ประเทศพม่า นอกเหนือจาก ตลาดริมเมย, วัดไทยวัฒนาราม รวมไปถึงข้ามไปเที่ยวฝั่งเมืองเมียวดีของประเทศพม่าแล้ว
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ปัจจุบันกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองแม่สอดกันไปแล้วนั่นคือ คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) ของ นายสุรชัย วีระสมเกียรติ สถานที่ดังกล่าวถือเป็นสวรรค์ของคนรักจักรยานและนักช้อปของมือสองจากญี่ปุ่นในยามที่เดินทางมาถึงชายแดนแม่สอดอย่างแท้จริง
คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) หรือ บริษัท คลัง 9 ไบค์ จำกัด เป็นแหล่งพักและจำหน่ายสินค้าจักรยานมือสอง จากญี่ปุ่นที่ถือว่าเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ในบรรดาเซียนจักรยานมือสอง “เมด อิน เจแปน” รู้กันดีว่าหากต้องการเลือกซื้อจักรยานมือสองในสภาพดี พร้อมใช้งาน ที่สำคัญส่งตรงมาจากญี่ปุ่นต้องที่นี่ที่เดียวเท่านั้น…
ด้วยคำร่ำลือแบบปากต่อปากทำให้ชื่อของ คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) กลายเป็นที่พูดถึงกันมากในวงการผู้ที่ชื่นชอบจักรยานมือสองไว้ใช้งานตามบ้านเรือน หรือจะเป็นจักรยานครอบครัว จักรยานแฟชั่น เสือหมอบ บีเอ็มเอ็กซ์ จักรยานสไตล์ที่ชาวญี่ปุ่นใช้ปั่นไปทำงาน มีให้เลือกกันหลายแสนคัน ราคาก็มีตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นตามแต่สภาพ และความต้องการของผู้บริโภค
ทีมข่าว “มติชน” ไม่รอช้าที่จะเดินทางไปพิสูจน์เพื่อเก็บข้อมูลมานำเสนอให้กับผู้อ่านได้รับทราบโดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบกีฬาจักรยานเป็นชีวิตจิตใจ….
คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) ตั้งอยู่ที่บ้านท่าอาจ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด อยู่ระหว่างเส้นจากสนามบินแม่สอดมุ่งหน้าไปสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เพื่อข้ามแม่น้ำเมย แต่ก่อนถึงสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ประมาณ 1 กิโลเมตรจะมีทางเลี้ยวขวาเพื่อไปบ้านท่าอาจ มุ่งหน้าเข้าไปลึกประมาณ 2 กิโลเมตรแล้วเบี่ยงซ้ายตรงจุดตรวจของทหารเพื่อมุ่งหน้าไปบ้านท่าอาจแล้วตรงไปอีก 1 กม. จะเจอกับโกดังสินค้าเรียงรายกันเป็นทิวแถวริมแม่น้ำเมยซึ่งอีกฝั่งหนึ่งจะเป็นดินแดนประเทศพม่านั่นเอง
โกดัง 9 หรือที่เรียกกันว่าคลัง 9 จากทั้งหมด 22 โกดังที่ตั้งอยู่นั้น เป็นคลังที่จำหน่ายสินค้าจักรยานที่ใหญ่ที่สุด เลยลึกเข้าไปอีกหน่อยก็เป็นคลัง 10 มีสินค้าจักรยานมือสองญี่ปุ่นขายอยู่บ้างเช่นกันแต่น้อยกว่าคลัง 9 (ท่าเฮียกวง)
สภาพด้านหน้าคลัง 9 เป็นลานกว้าง เต็มไปด้วยชาวพม่าเดินเคี้ยวหมากกันเกลื่อน พร้อมกับสภาพรถยนต์ญี่ปุ่นเก่า ผุ พัง หลายร้อยคันเรียงรายอยู่สองฝั่งถนนก่อนถึงสถานที่ที่เป็นโกดังขายจักรยาน ด้านหน้าทางเข้าจะมีกลุ่มเด็กๆ ชาวพม่านั่งขายแตงโมพม่าลูกใหญ่มหึมาอยู่ตรงข้ามร้านกาแฟสดของโกดัง 9
เมื่อขับรถเข้าไปในคลัง 9 (ท่าเฮียกวง) จะพบว่าที่นี่เป็นโกดังขนาดใหญ่มากมีพื้นที่ติดริมแม่น้ำเมยทอดแนวยาวกว่า 1 กิโลเมตร ภายในจะแบ่งเป็นโซนๆ มีทั้งโซนจักรยานมือสอง โซนสินค้าของชาวพม่า ถ้วยโถโอชาม เสื้อผ้า รวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ขนาดไม่ใหญ่มาก ภายในคลัง 9 (ท่าเฮียกวง) จะแบ่งเป็นล็อกๆ เพื่อจำหน่ายจักรยานมือสอง และสินค้าอื่นๆ นักช้อปสามารถเลือกเดินได้ตามสะดวก
ร้านค้าขายจักรยานตามล็อกต่างๆ จะมีคนงานชาวพม่าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งจักรยานที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นมีทั้งแบบเป็นคันๆ หรือส่งมาเฉพาะอะไหล่ ร้านค้าต่างๆ ภายในคลัง 9 ก็จะนำจักรยานที่ส่งมามาซ่อมแซมให้ดูเหมือนใหม่ โดยมีช่างจักรยานฝีมือดีทั้งคนพม่าและคนไทยเป็นคนซ่อม ล้าง เช็ด ทำความสะอาด พ่นสี จนอยู่ในสภาพใหม่
ทีมข่าวของ “มติชน” ได้ไปนั่งพูดคุยกับลูกชายคนเล็กของ “เฮียกวง” นั่นคือ “ตี้” นายธนวัฒน์ วีระสมเกียรติ ผู้จัดการคลัง 9 (ท่าเฮียกวง) โดยมีพี่สาว น.ส.ปภาวดี เต็มใจเจริญ เป็นกรรมการคลัง 9 ช่วยกันบริหารงานอีกแรงสองคนพี่น้อง
นายธนวัฒน์ เปิดฉากเล่าที่มาที่ไปของคลัง 9 ให้ฟังว่า คลัง 9 หรือคลังสินค้าท่าข้าม เราเริ่มดำเนินมา 10 กว่าปีแล้ว แรกเริ่มตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2550 สืบเนื่องจากเมื่อก่อนที่เราเปิดท่าข้ามแม่น้ำเมยเพราะที่ครอบครัวทำธุรกิจนำเข้าสินค้าเกษตรจากพม่าเข้ามาในไทยแล้วก็ส่งขายพวกตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ก็เลยเปิดท่าข้ามเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสินค้าเกษตรของตัวเอง แล้วต่อมาที่ขยับมาทำเป็นโกดังสินค้าต่างๆ ก็เริ่มมาจากความต้องการของลูกค้าเองที่รีเควสเข้ามาเพื่อต้องการเปิดตู้พวกผ่านแดนที่เป็นสินค้าของญี่ปุ่น พวกจักรยานเป็นหลัก โดยพวกที่ริเริ่มคือ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ทำธุรกิจในแม่สอดมานานแล้วส่วนใหญ่จะเป็นพวกนักธุรกิจต่างชาติที่แบบว่าเคยเปิดตู้ตามห้างต่างๆ แล้วเขามาสนใจอยากจะมาใช้บริการของคลัง 9 โดยบอกว่าอยากจะเปิดตู้พวกสินค้าจักรยานและสินค้าญี่ปุ่นอื่นๆ เราก็เลยดำเนินการติดต่อทางศุลกากรว่า เราต้องทำอย่างไรตามระเบียบขั้นตอนเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย สุดท้ายก็เลยได้เปิดคลัง 9 (ท่าเฮียกวง) เรื่อยมาจนปัจจุบัน
นายธนวัฒน์ เล่าต่อว่า แรกเริ่มเราไม่ได้เปิดใหญ่ขนาดนี้ เราค่อยๆ ทำ ตอนแรกๆ เราทำที่ด้านล่างที่ติดกับแม่น้ำเมยก่อน ตอนแรกมีประมาณแค่ 10 กว่าล็อก ทำไว้เพื่อให้ลูกค้าของเราได้มาพักของเพื่อรอลูกค้าทางฝั่งพม่ามารับของไป ช่วงแรกๆ เป็นดินด้วยซ้ำ ยังไม่ได้เทคอนกรีตเต็มรูปแบบขนาดนี้ เรียกได้ว่าทำแบบบ้านๆ เลย แต่ก็พัฒนามาเรื่อยๆ ลูกค้าก็เพิ่มมาขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ทางคุณพ่อ (เฮียกวง) เป็นคนวางโครงสร้างไว้ทั้งหมดจนกระทั่งลูกค้าเต็มอย่างทุกวันนี้
“ขั้นตอนในการนำสินค้าจักรยานมือสองเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นขั้นตอนคือ ลูกค้าที่เช่าพื้นที่ของเราจะไปดำเนินการประมูลตู้คอนเทนเนอร์จักรยานมือสองจากญี่ปุ่น ประมูลแบบยกตู้มาเลย ประมูลเป็นล็อต ล็อตละกี่คันก็อยู่ที่ตกลงกัน แล้วเมื่อได้จำนวนที่ต้องการ วิธีการก็ใส่ตู้คอนเทนเนอร์ยัดๆ กันมา ทางเรือผ่านแดนเข้ามาที่ประเทศไทยแล้วมาขึ้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง แล้วใช้รถลากมุ่งหน้ามาที่คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) เพื่อมาพักสินค้าที่จุดสุดท้ายของฝั่งไทยก่อนจะส่งต่อไปยังประเทศพม่า แต่สินค้าจักรยานบางส่วนที่สามารถนำมาวางขายที่ฝั่งไทยได้เพราะทางเราต้องการให้ลูกค้าคนไทยสามารถซื้อสินค้าจักรยานมือสองสภาพดีๆ จากญี่ปุ่นได้ เราจึงเลือกไว้แล้วทำกรรมวิธีเรื่องการชำระภาษีให้ถูกต้อง เราจึงสามารถนำมาวางขายที่คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) ซึ่งเป็นฝั่งไทยได้”
นายธนวัฒน์ เล่าต่อว่า ธุรกิจจักรยานในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา มีทั้งช่วงที่บูมมากๆ เช่นช่วงที่รัฐบาลรณรงค์ให้ปั่นจักรยาน หรือมีกิจกรรม “Bike for Dad” หรือ “Bike for Mom” ช่วงนั้นคือพีคมาก ขายกันไม่ทันเลยทีเดียว ห้างร้าน หน่วยงานรัฐต่างๆ มาเหมากันเป็นล็อตๆ กันเลย ลูกค้าเข้าไม่ขาดสาย แต่ก็มีช่วงที่ซบเซาลงไป อย่างเช่นปัจจุบันตลาดและความต้องการของลูกค้าก็ลดลงไป แรงซื้อก็ลดลงไป พวกพ่อค้าที่อยู่ตามล็อกต่างๆ ก็ต้องปรับตัวมีการเพิ่มสินค้าญี่ปุ่นอื่นๆ เข้ามาวางขายประกอบนอกเหนือจากจักรยานมือสองญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน
เมื่อถามว่าอะไรที่เป็นแรงส่งให้คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) ก้าวขึ้นมาเป็นแหล่งขายสินค้าจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
นายธนวัฒน์ บอกว่า เราเริ่มจับมานาน เราเริ่มจับธุรกิจจักรยานตั้งแต่ยังไม่บูม กระทั่งบูมขึ้นมา ลูกค้าก็เริ่มจำได้ว่าที่นี่มีจักรยานมือสองญี่ปุ่นเยอะ ถ้ามาที่คลัง 9 ก็จะได้เลือกสินค้าเยอะมาก ตามที่ใจชอบ ตามความต้องการของลูกค้า เพราะในคลัง 9 (ท่าเฮียกวง) จะมีล็อกขายจักรยานมือสองจากญี่ปุ่นประมาณ 40-50 ร้าน เราที่เป็นเจ้าของสถานที่เราก็ช่วยกันลงสินค้า ช่วยกันโปรโมตให้ลูกค้าสนใจมาซื้อของพวกเขาที่คลัง 9 เมื่อพวกเขาอยู่ได้ เราในฐานะผู้ให้เช่าสถานที่ เราก็อยู่ได้ อีกอย่างที่เราช่วยพวกเขาคือ เราก็จะช่วยประสานศุลกากรให้จักรยานทุกคัน ทุกร้านค้า ถูกต้องตามกฎหมายอันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะละเลยไม่ได้เด็ดขาด
“ในแง่ของรายได้ในฐานะผู้ประกอบการให้เช่าสถานที่ ผมถือว่า 10 ปีที่ผ่านมาถือว่า โอเคมาก ได้จากค่าเช่า ได้จากค่าขนส่ง ส่วนรายได้ในแง่ของผู้ที่จำหน่ายสินค้าในคลัง 9 ทุกคนแฮปปี้พอใจกับรายได้ที่ลงทุนไปเพราะก็มีลูกค้าทั้งรายย่อย รายใหญ่เข้ามาซื้อปลีก ซื้อส่งกันเรื่อยๆ บางรายมาซื้อ 1-2 คันเอาไปใช้ที่บ้าน ใช้ขี่ไปซื้อของใกล้ๆ ให้เด็กๆ ให้ลูก ให้หลานขี่เล่น บางคนเป็นผู้ประกอบการอีกทอดหนึ่งมาซื้อแบบหลายร้อยคันไปขายต่อที่จังหวัดต่างๆ มาจากกรุงเทพฯ ก็มีมาจากพิษณุโลกก็มี มาจากเชียงใหม่ เชียงราย หรือแม้กระทั่งมาจากภูเก็ตตีรถขึ้นมาเหมาจักรยานไปขายก็มี”
นายธนวัฒน์ เล่าต่อไปว่า ที่ผ่านมาตลาดมีทั้งขึ้นทั้งลง ช่วงนี้กระแสจักรยานน้อยลง ยอดที่เอาเข้ามาก็ลดลงตามสภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตลาดจักรยานในเมืองไทยมันเริ่มอิ่มตัวทำให้ยอดขายลดลง เมื่อก่อนจักรยานมือสองญี่ปุ่นที่คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) มีถึงหลักล้านคัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ถึงแล้ว ช่วงพีคๆ มีจักรยานทุกระดับ จักรยานญี่ปุ่นมีหลายประเภท ทั้งเสือภูเขา เสือหมอบ จักรยานแม่บ้าน จักรยานเด็ก จักรยานพับได้ หลายประเภทมาก ราคาที่ขายกันเริ่มต้นที่ 1,000 บาท จนถึงราคา 30,000 บาท เช่น พวกเสือหมอบ เสือภูเขา รุ่นที่ตลาดเขาฮิตๆ กัน แต่หลักๆ ตลาดของที่คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) คนจะนิยมมาซื้อพวกจักรยานพับได้ กับจักรยานแม่บ้าน พวกโรงแรม หรือรีสอร์ต ก็จะมาซื้อไปล็อตละหลายๆ คันไปไว้ให้บริการลูกค้าโรงแรม หรือรีสอร์ตเขาอีกที
นายธนวัฒน์ เล่าต่อไปอีกว่า จักรยานที่ส่งไปที่ฝั่งพม่าจะได้รับกระแสตอบรับดีมากเพราะพม่านิยมใช้จักรยานในชีวิตประจำวันกันจำนวนมาก ส่วนใหญ่จักรยานที่นำมาจะถูกนำไปใช้ในเมืองมัณฑะเลย์ ย่างกุ้ง พะอัน เนปิดอว์เป็นหลัก โดยจักรยานที่ชาวพม่าต้องการมากที่สุดจะเป็นพวกจักรยานแม่บ้าน ชาวพม่าจะไม่นิยมใช้จักรยานพับได้ ที่พม่าก็ซื้อต่อเราไปแบบเป็นล็อตๆ เดิมทีจริงๆ ของเรา ลูกค้าพม่าเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของเราเลย เมื่อก่อนคนพม่ามาเห็นจักรยานที่คลัง 9 วางขายก็อยากจะซื้อกลับไป เราก็เลยปรึกษาศุลกากรว่าอย่างไรดี ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำที่ดีคือ เราก็เก็บภาษีจากคนพม่าที่มาซื้อก็เป็นการช่วยนำรายได้เข้าประเทศอีกทางหนึ่งด้วย
“ผมมองว่าแนวโน้มในอนาคตของธุรกิจจักรยานมือสองญี่ปุ่นมันยังไม่ชัดเจนด้วยปัจจัยรอบด้านเรื่องของสะพานข้ามไทย-พม่าแห่งใหม่ก็กำลังจะเปิด ด้วยเหตุผลของศุลกากรที่เปลี่ยนกฎหมายทำให้สินค้าจักรยานดร็อปลงเพราะเมื่อก่อนเราสามารถพักตู้คอนเทนเนอร์จักรยานได้ 30-90 วัน แต่ตอนนี้รัฐบาลเปลี่ยนกฎไม่สามารถพักได้แล้ว ซื้อมาปุ๊บต้องข้ามไปพม่าเลยภายในวันเดียวห้ามพักทิ้งไว้ฝั่งไทย ทิศทางมันเลยเติบโตได้ช้า เรียกได้ว่าเมื่อก่อนเราเป็นจุดพัก แต่เดี๋ยวนี้เรากลายเป็นจุดผ่านเท่านั้น ทุกคลังที่เปิดขึ้นมาไม่ว่าจะสินค้าอะไรโดนเหมือนกันหมด ทำให้หลักๆ สินค้าทั้งหมดทุกตู้คอนเทนเนอร์จะไปพักที่ฝั่งพม่าแทน”
นายธนวัฒน์ เล่าต่อว่า คนพม่าชอบจักรยานญี่ปุ่นมาก อะไรที่เป็น “เมด อิน เจแปน” พวกเขาจะชอบมาก เขาจะแฮปปี้กับญี่ปุ่นมากกว่า ถ้าสินค้าที่มาจากจีน เขาจะไม่ค่อยชอบ ทุกวันนี้เราเองต้องปรับตัวกับสภาพเศรษฐกิจที่ทิ้งดิ่งลง เมื่อก่อนเราลงตู้คอนเทนเนอร์จักรยานวันละ 2-3 ตู้ แต่ปัจจุบันตู้คอนเทนเนอร์จักรยานที่เข้ามาจะเหลือสัปดาห์ละ 2 ตู้ ซึ่งตู้หนึ่งๆ จะบรรจุจักรยานมือสองได้ 500 คัน เมื่อมาถึงสภาพจักรยานในตู้คอนเทนเนอร์ไม่ถึงกับบูดๆ เบี้ยวๆ มา สภาพยังใช้งานได้ สภาพทุกคันอยู่ที่ประมาณ 70-80% เขาก็จะถอดพวกเบาะ พวกตีนถีบออกหมด เราเอามาเราก็จะมาเอามาเช็ดล้าง ขัด พ่นสีใหม่ ประกอบอะไหล่บางชิ้นที่ชำรุดให้อยู่ในสภาพพร้อมขาย แต่ก็ทำไม่เยอะ เราจะคงสภาพเดิมๆ ไว้ให้มากที่สุดเพราะลูกค้าที่ชื่นชอบจักรยานญี่ปุ่นชอบแบบเดิมๆ จากญี่ปุ่นด้วยซ้ำ
ช่วงท้ายของการสนทนา นายธนวัฒน์ฝากบอกถึงผู้ที่สนใจธุรกิจจักรยานมือสองญี่ปุ่นว่า สามารถเดินทางมาเยี่ยมชม ศึกษาดูงานได้ที่คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) ทางเราจะมีทีมงานคอยให้คำแนะนำดีๆ สำหรับผู้ที่สนใจจริงๆ
ปัจจุบัน คลัง 9 (ท่าเฮียกวง) ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กสำคัญสำหรับคนที่ไปเที่ยวแม่สอด จ.ตาก จะพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง…
เพราะที่นี่คือ สวรรค์ของคนรักจักรยานอย่างแท้จริง…