ก้าวแรก “Mission Possible” ฝันของ ETRAN สตาร์ตอัพไทย – ประชาชาติธุรกิจ

“สรณัญช์ ชูฉัตร” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด (ETRAN)
FILE PHOTO : FACRBOOK / ETRAN /

การประกาศความสำเร็จในการระดมทุนซีรีส์ A กว่า 100 ล้านบาท ในแง่จำนวนเงินอาจไม่มาก แต่เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญที่ทำให้ความฝันของ “สรณัญช์ ชูฉัตร” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด (ETRAN) สตาร์ตอัพไทย ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่มักพูดเสมอว่า “I just want to change the world.” ใกล้ความจริงขึ้นมาอีกขั้น

นอกจากนักลงทุน 2 ราย บมจ. เอ็น.ดี.รับเบอร์ หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย และนักลงทุนอิสระ มองเห็นศักยภาพบริษัท และโอกาสในตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจนตัดสินใจลงทุนด้วยแล้วยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัยจาก สอวช. อีก 16 ล้านบาท

พร้อมตั้งกรรมการบริหารชุดใหม่ และประกาศว่าจะเป็นยานยนต์พลังงานสะอาดรายแรกในไทยกับพันธสัญญาที่จะผลักดันโลกไปในทิศทางที่ดีกว่า

“สรณัญช์” บอกว่าวิกฤตโควิด-19 เป็น the great reset ที่ทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตและการทำงาน บริษัทใหญ่หลายแห่งไม่ได้ปรับแค่วิธีการทำงาน แต่ปรับไปถึงรากของธุรกิจ เพื่อให้ผ่านวิกฤตการณ์ไปให้ได้ บริษัทจึงใช้จังหวะนี้เป็นตัวตั้งต้นที่จะเปลี่ยนตนเองจากสตาร์ตอัพสู่การเป็น “มืออาชีพที่ยั่งยืน” ผ่าน 3 กลยุทธ์

1.clean พัฒนาอีโคซิสเต็มรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 2.efficient พัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพใช้ได้ทุกรูปแบบ และ 3.equitable ลดเหลื่อมล้ำทำให้เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้ผู้ใช้งาน

“เราเชื่อในคำว่า drive a better world ด้วยสิ่งที่เราสร้างตั้งแต่จุดเล็ก ของแนวความคิด การปฏิบัติ และสินค้า คำนี้ติดอยู่ในทุกสินค้าของเรา และอยากให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมด้วย จึงไม่ใช่แค่รถ แต่คือการสร้างแพลตฟอร์ม”

เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำมาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อให้ได้ต้นทุนที่เหมาะสม พัฒนาเทคโนโลยีมอเตอร์และแบตเตอรี่ ด้านความปลอดภัย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และขยายจุดเปลี่ยนแบตเตอรี่ บริการหลังการขาย รวมถึงการทำตลาด เพื่อสร้างชุมชนคนที่ใส่ใจมอเตอร์ไซค์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า รวมถึงโอกาสทางธุรกิจกับคู่ค้า

ครึ่งปีหลัง จะเปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่น “ETRAN MYRA” เพื่อขนส่ง และ “ETRAN KRAF” สำหรับผู้ใช้ทั่วไป ขยายสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ (ETRAN Power Station) 100 จุดทั่วกรุงเทพฯ ใน 3 ปี เจาะลูกค้า 4 กลุ่ม

1.ไรเดอร์ดีลิเวอรี่ 2.วินมอเตอร์ไซค์ 3.ภาครัฐ และ 4.กลุ่มผู้รักรถมอเตอร์ไซค์ ตั้งเป้าส่วนแบ่งตลาดเกินครึ่งของตลาดรถจักรยานไฟฟ้าในไทย ใน 3 ปี

“ปีที่แล้ว เราได้รางวัลเรดดอทดีไซน์ในหมวดอินโนเวทีฟ เพราะ 1.เป็นอินโนเวทีฟทรานส์ปอร์เทชั่น และ 2.ใช้พลาสติกที่มาจากเส้นใยธรรมชาติ แม้การใช้พลาสติกแบบนี้ไม่ใช่ของใหม่ แต่คนมักเอาไปซ่อนอาจเพราะลงสีแล้วไม่เงาไม่สวย แต่เราคิดต่างว่าความสวยคือความรักในสิ่งแวดล้อม”

สรณัญช์ทิ้งท้ายว่าบริษัทจะใหญ่โตไปอีกแค่ไหนก็ตามจะต้องไม่ลืมเจตนารมณ์ที่ต้องการสร้างโลกที่ดีกว่า ทุกคนในองค์กรต้องจำไว้ว่ามีหน้าที่ไม่ใช่แค่ผลิตรถแต่คือการทำโลกนี้ให้ดีกว่า สะอาดขึ้น มีประสิทธิภาพ และเท่าเทียมกัน

“ชื่ออีทราน ไม่ได้มาจากคำว่าอิเล็กทริก แต่มาจากชื่อของตัวเอกในหนัง เรื่องมิชชั่นอิมพอสซิเบิ้ล ที่ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้”