กรมศุลกากร VS กรมปศุสัตว์ แข่งจับหมูเถื่อน ปูเสื่อรอ “ผู้ร้ายตัวจริง”
พบพระ เกศสุข ที่ปรึกษาอิสระด้านปศุสัตว์
ตลอดเดือนกันยายน ที่ผ่านมา นับเป็นช่วงของการแข่งขันปราบปราม “หมูเถื่อน” ระหว่าง กรมศุลกากร กับ กรมปศุสัตว์ ที่ปัญหาพอกพูนมาตั้งแต่เมษายน ที่กองทัพหมูเถื่อนเดินพาเหรดเข้าไทยมาเฉลิมฉลองกำไรส่วนต่างของราคาหมูไทยที่สูงเพราะขาดแคลน แต่หมูลักลอบนำเข้ามาต้นทุนถูกกว่าเป็นเท่าตัว ที่สำคัญการกระทำผิดกฎหมายลักลอบนำเข้าซากสัตว์ ไร้คนสอดส่องดูแล ตรวจจับ ปรับ ดำเนินคดี หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรงคือกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ …อยู่หนใด? (ณ เวลานั้น)
ล่วงเข้าเดือน กันยายน 2565 หลังเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศสุดจะทนต่อความยากลำบากขายหมูไม่ได้ จาก “หมูเถื่อน เกลื่อนไทย” รวมตัวกันทำกิจกรรมเรียกร้องภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามหมูเถื่อนให้ขยับตัว ทั้งแถลงข่าวและยื่นหนังสื่อถึงเลขาธิการคณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอให้ตรวจสอบการการปฏิบัติหน้าที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ในการปราบปรามขบวนการหมูเถื่อน โดยไม่เคยเปิดเผยรายชื่อผู้กระทำผิดทั้งที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงบริษัทผู้นำเข้าได้ไม่ยาก…นั่นสิ ทำไมถึงไม่ได้ตัวการนำเข้าที่แท้จริง?
ข่าวล่าสุด กรมศุลกากร แถลงข่าวโชว์จับยาอี น้ำหนัก 2.92 กิโลกรัม ซุกซ่อนมากับสินค้าทางพัสดุไปรษณีย์ จากเยอรมนี ณ ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯ มูลค่ากว่า 6 ล้านบาท ขอตั้งข้อสังเกต ยาอีเม็ดเล็กๆ และไม่ผ่านด่านศุลกากร หรือ เครื่องเอ็กซ์เรย์ ประสิทธิภาพสูงของกรมฯ ที่ติดตั้งไว้ในท่าเรือแหลมฉบังนับ 10 เครื่อง แต่สามารถตรวจพบ “ดั่งตาเห็น” แต่หมูเถื่อนชิ้นใหญ่กว่ามากและต้องผ่านด่านศุลกากร ดันเล็ดลอดไปได้ทุกครั้ง…เหตุใดถึงผ่านออกมาได้? เครื่องเสีย หรือ ลืมเปิดเครื่อง?
ก่อนหน้านี้ นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา กล่าวย้ำว่า หมูเถื่อนที่มีการลักลอบนำเข้ามาเป็นจำนวนมาก มีโอกาสปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง เนื่องจากหมูลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายเป็นเนื้อหมูและชิ้นส่วนที่คนอเมริกา ยุโรป และคนในประเทศทางตะวันตกไม่บริโภค ไม่ว่าจะขา หัว และเครื่องในหมู การลักลอบนำเข้าจึงเป็นการสร้างมูลค่าให้กับขยะเหลือทิ้ง แทนที่จะต้องทำลาย ซึ่งชิ้นส่วนต่างๆ ที่มีการนำเข้ามานี้ เต็มไปด้วยสารแรคโตพามีน หรือสารเร่งเนื้อแดงที่ผู้เลี้ยงหมูสหรัฐฯ และบางประเทศของยุโรปสามารถใช้ในการเลี้ยงได้อย่างเสรี แต่ไทยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2545 “ห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงในการเลี้ยงหมูอย่างเด็ดขาด” ผู้ใดลักลอบใช้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ
วันนี้ “หมูเถื่อน” ผสมสารเร่งเนื้อแดง ยังคงมีวางขายปะปนกับหมูไทยในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ สร้างความเดือดร้อนเกษตรกรไม่รู้จบ ทำให้โรงชำแหละ เขียงหมู ไม่ซื้อหมูจากเกษตรกรตามปกติ ผู้เลี้ยงจำเป็นต้องแบกภาระเลี้ยงหมูต่อไว้ในฟาร์มรอวันขาย เพิ่มต้นทุนขึ้นไปอีก ด้านผู้บริโภคเป็น “แพะ” รับสารพิษไปโดยไม่รู้ตัว เพราะหมูไทย-หมูเถื่อน ขายปนกันจนแยกไม่ออก
As part of their spo…
This website uses cookies.