หลังประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และมีแผนการฉีดต่อเนื่อง เม็ดเงินเยียวยาเริ่มกระจายลงสู่ประชาชน เช่นเดียวกับสถานการณ์โลกภายหลังจากฉีดวัคซีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงกลายเป็นคำถามว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์และแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเช่นไร เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์มติชนได้มีเวทีสัมมนาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ “ปี 2021 ประเทศไทยไปต่อ” มีสาระสำคัญ ดังนี้
เป้าหมาย “จีดีพี” โต 4%
“สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงานกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “พลิกโควิด เป็นโอกาส ประเทศไทยไปต่อ” ว่า ปีนี้ยืนยันว่าตัวเลขจีดีพีไทยจะขยายตัว 4% แม้ในช่วงต้นปีกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวเพียง 2.7% ไม่เกิน 3% เพราะผลกระทบต่อเนื่องจากรายได้การท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว
ขณะที่ปีที่ผ่านมาหลายสิ่งดูแย่ลงแต่การออมของคนไทยเติบโตขึ้นถึง 11% คิดเป็นเงินหลายแสนล้านบาท ก็อยู่ที่พวกเราว่าจะช่วยประคับประคองประเทศไทยไปได้ขนาดไหน ถ้าประชาชนเสียเงินออมมาใช้ช่วยชาติก็จะเป็นส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากนี้จะมีการพิจารณามาตรการเพื่อกระตุ้นให้มีการดึงเงินออมออกมาใช้ โดย concept จะเป็นเรื่องโคเพย์ แต่ต้องดูอีกทีว่าจะมีลักษณะที่แตกต่างจากช็อปช่วยชาติอย่างไร
“ปี’63 แม้จีดีพีติดลบ 6% แต่ถือว่าน้อยกว่าที่หลายฝ่ายคาดว่าจะติดลบมากกว่า 7-8% สะท้อนว่าไทยบอบช้ำไม่มาก”
“สุพัฒนพงษ์” กล่าวว่า เรื่องวัคซีนที่มีการพูดว่าประเทศที่ฉีดก่อนมีจำนวนวัคซีนมากกว่านั้น สิ่งสำคัญคือจำนวนวัคซีนที่ตกลงทำสัญญาซื้อไว้แล้วถึง 63 ล้านโดส ซึ่งเพียงพอสำหรับประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปจะฉีดได้คนละ 2 โดส และจะทยอยซื้อเพิ่มขึ้น มีการเตรียมงบประมาณสาธารณสุขไว้ 50,000 ล้านบาท
การบริหารจัดการวัคซีนและการฉีดวัคซีนที่เป็นระบบจะทำให้เราเข้าสู่ภาวะปกติหรือเข้าสู่ช่วงปลาย ๆ ของโควิด เตรียมจะขยายการเติบโต ในปี 2564 จึงเป็นปีที่สำคัญมากและเป็นรอยต่อระหว่าง COVID-19 และ post COVID รัฐบาลยังมีหน้าที่ต้องประคับประคอง มีโครงการช่วยเหลือทั้งเราชนะ เรารักกัน ม.33 คนละครึ่ง เพื่อดูแลผลกระทบประชาชน
ที่ผ่านมารัฐบาลลงทุนในแนวนอน คนไทยจึงมองไม่เห็น ไม่อยู่ในระดับสายตา ไม่เหมือนการสร้างตึก 100 ชั้น 1,000 ชั้น มันเห็นง่าย แต่ที่ถ้ามองจากบนเครื่องบินจะเห็นว่ามีการขยายโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ มีมากมาย เช่น ปีนี้สายสีแดง ปีหน้าสายสีชมพู ถนนเสร็จทุกปี โดยเฉพาะเส้นทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี เป็นเส้นทางที่สร้างการเชื่อมโยงกับภูมิภาค
ทั้งจีน-อาเซียน และไม่ใช่มีแค่โครงสร้างพื้นฐานทางถนน รถไฟรางคู่ แต่ยังมีสายส่งและระบบไฟฟ้ารองรับการขายไฟระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น ลาวไปมาเลเซีย และกำลังจะต่อไปสิงคโปร์ รัฐบาลเห็นชอบสนับสนุนเงินกู้ในการช่วยสร้างสายส่ง เชื่อมโยงเข้าไปเมียวดี ย่างกุ้ง เป็นการเตรียมแผนในระยะยาว
ส่งเสริมการลงทุน 12 กลุ่มเป้าหมาย
“สุพัฒนพงษ์” ย้ำด้วยว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญที่จะส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี 12 กลุ่มอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ไฟฟ้า สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เมดิคอล เกษตร เป็นต้น ด้วยการใช้กลยุทธ์ 4Ds (digitalization, decarbonization, decentralization และ de-regulation) ในการเปลี่ยนผ่าน
ยกตัวอย่างการพัฒนาระบบดิจิทัล หรือ digitalization ไทยมีความพร้อมในระบบสาธารณูปโภคทั้ง 5G เอไอ คลาวด์เซอร์วิส และดาต้าเซ็นเตอร์ หรือการลดคาร์บอนไดออกไซด์ (decarbonization) โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมให้ไทยไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรัฐบาลมุ่งส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นอกจากนี้ จะส่งเสริมการเชื่อมโยงความเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub) และการท่องเที่ยว ถ้าเปิดประเทศได้เร็วขึ้นกว่าเป้าหมายในเดือนตุลาคมจะช่วยให้จีดีพีเติบโตได้ 4% ตามเป้า โดยภูเก็ตจะเป็นโมเดลต้นแบบเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วให้เดินทางตรงเข้ามาและต่อไปพื้นที่อื่นได้ ต่อไปเป้าหมายการท่องเที่ยวไม่ใช่มุ่งดึงนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน
แต่จะดึงผู้สูงอายุที่เกษียณจากตะวันตกมาอยู่ในไทย คนกลุ่มนี้นอกจากมีเงินบำนาญเดือนละ 60,000 บาทแล้ว ยังมีเงินช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่งไทยจะเชื่อมโยง bilateral หลายประเทศ แค่คนกลุ่มนี้เข้ามา 1 ล้านคนก็ได้เงินแล้ว 2 ล้านล้านบาท สิ่งสำคัญต้องแก้กฎระเบียบอำนวยความสะดวก เช่น เวิร์กเพอร์มิต วีซ่าคนเกษียณอายุสูงวัย ฯลฯ
“ปีนี้เป็นปีที่สำคัญที่สุดที่ต้องช่วยกัน เพราะรัฐบาลจะยืนยันคงเป้าหมาย 4% ต้องช่วยกันประคับประคอง ปีก่อนติดลบ 6% ถ้าปีนี้ได้ 4% ปีหน้าอีก 2% ก็จะกลับมา และปี’65 จะเป็นปีแห่งการลงทุนสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างอนาคตให้คนรุ่นถัดไปเข้มแข็ง”
ความท้าทายการขับเคลื่อน ศก.
“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย บรรยายในหัวข้อ “Next Step ฟื้นเศรษฐกิจไทย” ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยแม้ว่าภาครัฐต้องการให้เศรษฐกิจไทยโต 4% แต่หากตัวเลข 3.5-4% ยังคงขยายตัวต่ำกว่าเศรษฐกิจโลก และใช้เวลานานกว่าประเทศอื่น เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอยู่ภายใต้ฝ่าวิกฤตพายุที่พึ่งพารายได้จากต่างประเทศในสัดส่วนสูง 70-80% ขณะที่การบริโภคค่อนข้างต่ำ
จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีกลุ่มเปราะบางจำนวนมากถึง 1.9 ล้านคน ทำให้ฉุดรั้งการเติบโต โดยตอนนี้ไทยเผชิญความท้าทาย 4 ด้าน คือ
1.การเข้าสู่ new normal โครงสร้างเศรษฐกิจรูปแบบการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป โดยหันมาแข่งในเรื่องของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ data analytic จะเห็นผ่านการแข่งขันระหว่างจีนและสหรัฐที่มีการกีดกันการเข้าถึงเทคโนโลยีซึ่งสร้างแรงกระเพื่อมทั่วโลก
2.new rules กฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สหภาพยุโรป มีกติกาการเก็บภาษีคาร์บอนที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2566 การส่งออกสินค้าไปประเทศเหล่านี้จึงต้องวางแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม หากไม่ทำตามกติกาจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
3.fiscal pressure แรงกดดันของภาคการคลัง ซึ่งผลจากการระบาดของโควิดที่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไทยจากปี 2562 ที่อยู่ระดับ 41% และเพิ่มเป็น 51.8% ในปี 2563 มีความท้าทายมากขึ้นในภาวะที่การจัดเก็บรายได้มีข้อจำกัด และการนำเทคโนโลยีมาช่วยประชาชนผ่านแอปเป๋าตังและถุงเงิน ซึ่งมีผู้ใช้กว่า 44 ล้านคนและร้านค้าฐานรากอีก 1.4 ล้านร้านค้า ถือเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อขับเคลื่อนนโยบายได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
และ 4.competitiveness ความสามารถการแข่งขันที่ไทยด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้น การเติบโตของจีดีพีในระดับ 3-4% จะต้องเกิดความร่วมมือไปในทิศทางเดียวกันของทุกภาคส่วน เช่น การลงทุนทางด้านพัฒนาและวิจัย (R&D) เพื่อนวัตกรรมใหม่ ๆ ไทยลงทุนเพียง 1.1%
ขณะที่ทั่วโลกลงทุนเฉลี่ย 2.3% หรือญี่ปุ่น และเกาหลีลงทุน 3-5% ของจีดีพี อย่างไรก็ดี ไทยตั้งเป้าจะลงทุนเพิ่มเป็น 2% ภายในปี 2570 หรือการลงทุน BCG เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ เป็นต้น
สิ่งดังกล่าวสะท้อนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปข้างหน้ายังมีความท้าทายอยู่มาก