อาร์ม ตั้งนิรันดร
ดูบทความทั้งหมด
คณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการ ศูนย์จีนศึกษา
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คอลัมนิสต์ประจำ “มองจีนมองไทย”
116
เวลาของวิกฤต คือ เวลาที่ต้องคิดการใหญ่ มีคนกล่าวว่าวิกฤตโควิดครั้งนี้ สะท้อนการผงาดขึ้นของจีน เพราะจีนพ้นวิกฤตและฟื้นตัวได้เร็ว
ขณะที่สหรัฐฯ เกิดวิกฤตหนักทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจ แต่อย่าเพิ่งประมาทสหรัฐฯ ครับ เพราะในยุคของประธานาธิบดีไบเดน วิกฤตโควิดกลับกลายเป็นโอกาสที่ไบเดนใช้ในการคิดการใหญ่และคิดการใหม่!
ถ้าไม่มีวิกฤต แผนการลงทุนใหญ่ 2 ล้านล้านดอลล่าร์สหรัฐของไบเดน ที่หลายคนเรียกขานว่า “ไบเดนโนมิค” อาจไม่มีใครเขาเอาด้วย เพราะเป็นแผนที่ผลาญงบมหาศาล สร้างภาระหนี้มโหฬาร และขัดกับหลักการส่งเสริมกลไกตลาดที่วงการนักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ ยึดถือมาอย่างยาวนาน
แต่วิกฤตโควิดได้สะท้อนความเปราะบางและจุดอ่อนมากมายในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งปัญหาการพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตจากจีน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงในสังคมสหรัฐฯ ปัญหาการถดถอยของสหรัฐฯ ในภาคอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่ออนาคต
ไบรอัน ดีซ มันสมองด้านเศรษฐกิจคนสำคัญของรัฐบาลไบเดน ได้ให้สัมภาษณ์นิวยอร์กไทมส์ว่า ความคิดด้านเศรษฐกิจของไบเดนนั้น ได้รับอิทธิพลมาจากการเปรียบเทียบตัวเองกับจีน
ไบเดนมองว่า จีนสำเร็จในวันนี้ได้ เพราะคิดการใหญ่ คือลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูงในสเกลมหึมาอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์โลก และเพราะคิดการใหม่ คือลงทุนในอุตสาหกรรมที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจอนาคต โดยทุ่มให้กับการวิจัยและพัฒนาในเรื่องที่สำคัญในระยะยาวและผ่านการคิดเชิงยุทธศาสตร์มาแล้ว
ผมวิเคราะห์ว่า สาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลไบเดนประโคมกระแสภัยคุกคามจากจีน ส่วนหนึ่งเพราะต้องการสร้างความเห็นร่วมในวงการเมืองและสังคมสหรัฐฯ ถึงความสำคัญที่สหรัฐฯ จะต้องคิดการใหญ่และคิดการใหม่อีกครั้ง ทั้งวิกฤตโควิดยิ่งเป็นตัวกดดัน เพราะประชาชนรากหญ้าในสหรัฐฯ เดือดร้อนและมีความต้องการเม็ดเงินมหาศาลในการฟื้นเศรษฐกิจ
ไบเดนโนมิคมีหัวใจอยู่ที่การผูกการทุ่มเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นและฟื้นเศรษฐกิจ เข้ากับการวางแผนเชิงยุทธศาสตร์และการวางแผนระยะยาว กล่าวคือ
หนึ่ง แผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องตอบโจทย์เรื่องพลังงานสะอาดและการแก้ไขปัญหาโลกร้อน อุตสาหกรรมสำคัญคืออุตสาหกรรมรถยนต์พลังงานสะอาด ในวงที่ปรึกษาของไบเดนตอนนี้ มีคำพูดว่า หลักคิดทางเศรษฐกิจทั้งหมดต้องเป็นเศรษฐศาสตร์โลกร้อน (all economics is going to be climate economics)
สอง การกลับมาของ “ยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม” ในรอบ 20 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ มักจะหลีกเลี่ยงแนวทางยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม เพราะเห็นว่าเป็นการขัดแย้งกับกลไกตลาดและการพัฒนาของเอกชน ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าการวางแผนของรัฐ
แต่ไบรอัน ดีซ ขุนพลเศรษฐกิจของไบเดน พูดชัดเจนว่าทฤษฎีเก่าใช้ไม่ได้แล้ว เพราะวันนี้สหรัฐฯ กำลังแข่งกับจีนที่ไม่ได้เล่นอยู่บนฐานของกลไกตลาด ดังนั้น สหรัฐฯ จึงต้องเปลี่ยนมาเล่นเกมยุทธศาสตร์สู้กับจีน โดยการทุ่มเงินลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ที่จะกำหนดอนาคตเศรษฐกิจโลก เช่น เซมิคอนดัคเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ พลังงานสะอาด โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นผู้ปฏิวัตินวัตกรรมในเรื่องเหล่านี้
วิกฤตโควิดและสงครามการค้า ได้ทำให้สหรัฐฯ ตระหนักถึงความเปราะบางจากการพึ่งพาห่วงโซ่การผลิตของจีน สหรัฐฯ ที่เคยเป็นมหาอำนาจด้านอุตสาหกรรมและเป็นนักสร้าง แต่วันนี้การผลิตทุกอย่างกลับอยู่ที่จีน เมื่อเกิดวิกฤตโควิด แม้แต่จะผลิตหน้ากากอนามัยหรือเครื่องช่วยหายใจ สหรัฐฯ ก็ไม่มีศักยภาพ
ไบเดนย้ำเน้นว่าต้องวางแผนความมั่นคงเรื่องห่วงโซ่การผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ เขาตั้งเป้าชัดเจนว่าโรงงานรถยนต์พลังงานสะอาดชั้นนำของโลกต้องอยู่ที่สหรัฐฯ และจากการประชุมล่าสุดกับนายกฯ ญี่ปุ่นที่กรุงวอชิงตัน ก็มีแผนที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นสร้างห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ที่ตัดขาดจากจีน
สาม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ต้องมีการวางแผนเพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนรากหญ้าในสหรัฐฯ กลายเป็นว่าการสร้างงาน การสร้างโอกาสต้องเป็นหัวใจของการลงทุน
มีนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักบางคนถึงกับพูดทีเล่นทีจริงว่า อย่าเรียกแนวคิดของไบเดนว่าไบเดนโนมิคเลย เพราะนี่เป็นแนวคิดที่ฉีกทุกตำราเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากไบเดนไม่สนใจการขาดดุลงบประมาณ ไม่สนใจความเสี่ยงเงินเฟ้อ ไม่สนใจกลไกตลาด แต่ควรเรียกว่าเป็นแนวคิดทางการเมือง เพราะไบเดนมองว่า นโยบายเศรษฐกิจต้องทำให้คนรากหญ้าสหรัฐฯ รู้สึกได้จริงๆ ว่าประโยชน์ตกที่เขา ไม่เช่นนั้นนโยบายขยายรัฐเชิงรุกของเขาก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนในระยะยาว
ผมมีข้อสังเกตสองข้อเกี่ยวกับไบเดนโนมิค ข้อแรกก็คือ ไบเดนโนมิคเป็นเหมือนกระจกสะท้อนสีโคโนมิคก็ว่าได้ หรืออาจพูดได้ว่าไบเดนลอกข้อสอบสีจิ้นผิงแบบไม่เกรงใจ เพราะธีมสำคัญของไบเดนนั้น ไม่ต่างจากแผนพัฒนาฉบับที่ 14 ในรอบ 5 ปี ใหม่ของจีนที่เพิ่งประกาศออกมา นั่นก็คือ การเน้นวิจัยพื้นฐานเพื่อปฏิวัตินวัตกรรม การสนับสนุนอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ การเน้นอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด การเน้นความมั่นคงของห่วงโซ่การผลิตและการพึ่งตัวเองให้ได้ในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ ตลอดจนการสื่อสารกับประชาชนว่าหัวใจของการลงทุนของรัฐคือการสร้างงาน
ข้อสังเกตที่สองที่คนจีนเริ่มวิพากษ์เพื่อไม่ประมาทคู่แข่งก็คือ ไบเดนกำลังทำสมชื่อมหาอำนาจเบอร์ 1 อย่างสหรัฐฯ จริงๆ เพราะเม็ดเงินที่ไบเดนเสนอนั้น เรียกว่ามหึมาที่สุดในประวัติศาสตร์การลงทุนของโลก นักวิเคราะห์ในจีนบางคนถึงกับเปรียบเปรยว่า ไบเดนโนมิคคือสีโคโนมิคยกกำลังสองด้วยซ้ำ
สนุกไหมครับการแข่งขันระหว่างสองมหาอำนาจ แต่เดิมพันนี้ยังอีกยาวครับ ฝ่ายจีนยังถามต่อว่าสีจิ้นผิงและสีโคโนมิคนั้นอยู่แน่ๆ อีกยาว แต่ไบเดนเมื่ออยู่ครบ 4 ปี แล้ว จะมีสมัยสองไหม หรือทรัมป์โนมิคจะกลับมา และข้อเสนอแผนการลงทุนมโหฬารของไบเดนนั้น ยังต้องผ่านการต่อสู้และประสานประโยชน์กับกลุ่มการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์ในสหรัฐฯ อีกมาก สุดท้ายจะทำได้เพียงใด และทำได้ผลขนาดไหน ยังต้องรอชม
แต่ที่แน่ๆ เกิดคำถามสองข้อที่ชวนถามพวกเรา หนึ่ง ท่ามกลางการสู้กันดุเดือดในอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างสองยักษ์ ย่อมผลักให้โลกหมุนเร็วขึ้น ไทยเราพร้อมหรือยังกับโลกที่เศรษฐกิจเก่ากำลังตายลงอย่างรวดเร็ว และนวัตกรรมกำลังผลัดใบด้วยสปีดทวีคูณ
และสอง วิกฤตใหญ่อย่างโควิดในปัจจุบัน ไทยเราได้ใช้เป็นโอกาสในการสร้างฉันทามติร่วมในสังคม ปลุกพลังคิดการใหญ่และคิดการใหม่บ้างหรือไม่ หรือมีแต่คิดเล็กคิดน้อย หรือไม่ก็จุดธูปขอพรขอให้โลกกลับมาเหมือนเดิมเร็วๆ.
ดูบทความทั้งหมดของ อาร์ม ตั้งนิรันดร