“ไทยออยล์” กำเงินสด 6 หมื่นล้าน พร้อมลงทุนปั้นธุรกิจใหม่

โรงกลั่นไทยออยล์

สัมภาษณ์

เมื่อ 60 ปีก่อน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ถือเป็นโรงกลั่นเอกชนรายแรกของประเทศไทย ด้วยกำลังการกลั่นเริ่มต้น 35,000 บาร์เรลต่อวัน มาจนถึงวันนี้เพิ่มขึ้นเป็น 275,000 บาร์เรลต่อวัน และ TOP กำลังก้าวสู่แชปเตอร์ใหม่ อีก 10 ปี (ปี 2573) ปรับพอร์ตโฟลิโอลดสัดส่วนโรงกลั่นปิโตรเลียม

เพิ่มสัดส่วนธุรกิจปิโตรเคมี และลุยธุรกิจใหม่ (new business) เพื่อที่จะทำให้ไทยออยล์ในอนาคตจะไม่ใช่แค่ “ออยล์” อีกต่อไป “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP ถึงก้าวใหม่ในธุรกิจครั้งนี้

โควิดตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง

โควิด-19 ทำให้เราเห็นความผันผวนหลายอย่าง สายการบินต้องหยุด ต้องลดการผลิตน้ำมันเครื่องบิน เห็นเทรนด์การเกิดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นโอกาสที่จะลงทุนในธุรกิจอื่น จึงหันไปผลิตโปรดักต์ specialty เช่น ผลิตน้ำมันเกรดต่าง ๆ น้ำมันที่ใช้ในรถแข่ง ที่มีมูลค่าสูง ๆ ผลิตตัวสารที่นำไปเป็นส่วนผสมในโปรดักต์ต่าง ๆ เพื่อนำน้ำมันดิบไปต่อยอดเพิ่มมูลค่า ซึ่งมันจะทำให้กำไรของไทยออยล์ผันผวนน้อยลง

จะเห็นว่าได้มีการขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ (new business) ด้าน green business คือ การที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจเอทานอลกับพันธมิตร เพื่อพัฒนาสู่เอทานอลระดับฟู้ดเกรด และการพัฒนาเป็นส่วนประกอบของอาหารออร์แกนิก รวมถึงมองหาโอกาสลงทุนในกองทุน Corporate Venture Capital (CVC) ในสตาร์ตอัพ

โดยโฟกัส 3 กลุ่ม คือ เทคโนโลยีการผลิต การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โมบิลิตี้ และพลังงานใหม่ ซึ่งตอนนี้ได้เข้าไปลงทุนแล้ว 2 กองทุนในสหรัฐ และอิสราเอล รวมถึงได้เข้าไปลงทุนใน startup โดยตรง และจะเพิ่มขึ้นอีกในปีนี้

ต่อยอดปิโตรเคมีเสริมแกร่ง

เรากำหนดเป้าหมายใหม่ว่าจะปรับพอร์ตโฟลิโอบริษัทในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2573 จะมีรายได้จากธุรกิจปิโตรเคมี เป็น 40% และธุรกิจใหม่อีก 5% ส่วนธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียมจะเหลือ 40% และธุรกิจโรงไฟฟ้า 15%

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ เริ่มต้นจากการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ด้วยมูลค่ากว่า 150,000 ล้านบาท มีการจ้างงานถึง 15,000 คน ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่นไทยออยล์ ให้มีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน และกลายเป็นบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่แข็งแกร่งและยั่งยืนที่สุดไปตลอด 100 ปี

ขณะนี้ โครงการ CFP ก่อสร้างไปแล้วกว่า 60% คาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2566 หรืออีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อถึงตอนนั้น CFP จะสามารถรับน้ำมันดิบที่หลากหลายชนิด รวมถึงเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น

ไฮโดรคาร์บอนแวลูเชน

ลุยหาพาร์ตเนอร์ปิโตรเคมี

ต่อไปเราจะต้อง beyond CFP เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ นำผลพลอยได้จากโครงการ CFP มาเป็นวัตถุดิบ (feedstock) เพิ่มขึ้นปีละ 2,200,000 ตัน แบ่งเป็น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) 600,000 ตัน light naphtha 700,000 ตันต่อปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ รวมถึงมี heavy naphtha อีก 900,000 ตันต่อปี ในส่วนนี้จะใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์

แผนในส่วนของ feedstock ทั้ง LPG และ light naphtha นั้น คือ การต่อยอดโรงโอเลฟินส์ ที่เดิมจะร่วมลงทุนกับพาร์ตเนอร์ในเครือ แต่เราเห็นโอกาสและประเมินตลาด เราเห็นความต้องการในต่างประเทศที่มีมากกว่าในไทย เพราะในประเทศไทยขณะนี้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์ล้น

เนื่องจากซัพพลายมากกว่าดีมานด์ จึงคิดว่าการเติบโตของไทยออยล์นั้นจะไปสู่รูปแบบการโตที่รวดเร็ว หรือ fast track โดยการหาพาร์ตเนอร์ที่มีการลงทุนโรงโอเลฟินส์อยู่แล้วเพื่อร่วมทุนต่อยอดกันไปเลย แทนการลงทุนเองโดยการหาพาร์ตเนอร์ ไม่จำเป็นต้องรอให้โครงการ CFP แล้วเสร็จ แต่สามารถดำเนินการเจรจาให้จบดีลได้เลย คาดหวังว่าจะต้องจบดีลในปีนี้

พาร์ตเนอร์ที่มองหาเพื่อไปร่วมทุนในธุรกิจปิโตรเคมีในต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดที่มีดีมานด์สูง เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ส่วนรูปแบบการร่วมลงทุนนั้นไทยออยล์จะส่งวัตถุดิบ naphtha ขายให้โรงโอเลฟินส์ที่ร่วมทุนหรือขายตรงเข้าไปในตลาด ซึ่งเป็นการเข้าสู่ value chain ไปสู่โอเลฟินส์เร็วขึ้น

ขณะเดียวกันยังสามารถร่วมกันผลิตสินค้ามาขายในตลาดนั้น ๆ ได้ด้วย เช่น สายโอเลฟินส์ผลิตเป็นเม็ดพลาสติกประเภทโพลิเอทิลีน (polyethylene-PE) และโพลิโพรพิลีน (polypropylene-PP) นิยมนำไปผลิตเป็นถุงพลาสติก ฟิล์มห่อหุ้มอาหาร ท่อ กล่องบรรจุอาหาร ไฟเบอร์ในหน้ากาก N95 รวมถึงผ้าอ้อม โดยธุรกิจสายโอเลฟินส์จะทำให้ไทยออยล์ไปถึงดาวน์สตรีม หรือผลิตภัณฑ์ specialty เป็นไฮแวลูโปรดักต์ (HVP) มากขึ้น

ส่วนสายอะโรเมติกส์สามารถผลิตเป็นโพลิเอสเตอร์, PET หรือพวกขวดพลาสติก, พลาสติกชนิดที่เรียกว่า ABS ซึ่งใช้ทำตัวเครื่องโทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ส่วนประกอบในรถยนต์ ตัวตู้โทรทัศน์ หมวกกันน็อก คีย์บอร์ด เป็นต้น

กำเงินสด 6 หมื่นล้าน

การโตแบบรวดเร็วนี้ เพราะเราเห็นว่าหลังโครงการ CFP มันต้องมี value chain กว่าเราจะรอให้ CFP เสร็จอีก 2 ปี แล้วมาลงทุนโรงโอเลฟินส์ต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปี และกว่าจะได้ขายก็กินเวลาไป 7-8 ปี ซึ่งมันนานเกินไป
ดังนั้นเมื่อเป้าเรามุ่งไปสู่ดาวน์สตรีมของโอเลฟินส์ เพื่อไปต่อยอด value chain เราจึงต้องโตแบบ fast track

แน่นอนว่าการจะโตแบบนี้ และขยายธุรกิจอื่น ไทยออยล์ต้องมีเงินสดสำรองไว้ ซึ่งปัจจุบันมีกระแสเงินสด 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 60,000 ล้านบาท พร้อมจะขยายการลงทุนในอนาคต

ต่อยอด “โรงไฟฟ้า”

ธุรกิจไฟฟ้านั้นถือว่าเป็นธุรกิจที่มีอนาคต มีผลตอบแทนที่มั่นคงเนื่องจากไฟฟ้าเป็นธุรกิจสาธารณูปโภค ยังมองว่าในปี 2573 จะมีสัดส่วนกำไร 15-20% จากการเติบโตของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC ที่ไทยออยล์ถือหุ้นอยู่ 24.5% และขายหุ้นไป 3.5% ให้ ปตท.

ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น GPSC จะสามารถขยายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 6,000 เมกะวัตต์ ทั้งยังมีการเติบโตของบริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด ในเครือไทยออยล์ ที่จะเข้ามาซัพพอร์ตรายได้อีกทาง ซึ่งท็อปฯเองเขาก็จะขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าต่อไปอีก จากตอนนี้มีกำลังผลิตไฟฟ้าประมาณ 240 เมกะวัตต์ ซึ่งมันก็จะรองรับการเติบโตของไทยออยล์ในอนาคตพอดี

นอกจากนี้ไทยออยล์มีแผนเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ภาครัฐจะเปิดให้ยื่นเสนอโครงการในเดือน เม.ย. 2564 นี้เนื่องจากพาร์ตเนอร์ 2 รายที่มีอยู่สามารถป้อนกากจากพืชที่เหลือเพื่อผลิตไฟฟ้าให้ได้ ถือเป็นโอกาสการลงทุนธุรกิจใหม่