ย้อนอดีต ตำนานแห่งชัยชนะของเครื่องยนต์โรตารีใน MAZDA 787B LE MANS – ไทยรัฐ

การแข่งขัน Le Mans 24h ครั้งที่ 59 กลายเป็นโอกาสสุดท้ายของทีมแข่งจากบริษัท Mazda ในการพิสูจน์ตัวเอง ด้วยเครื่องยนต์สูบหมุนที่พวก Mazda ได้เลือกใช้ในรถแข่ง เพื่อเป้าหมายในการคว้าแชมป์ในที่ที่ไม่เคยมีบริษัทรถญี่ปุ่นค่ายไหนเคยทำได้มากก่อน การเปลี่ยนแปลงกฎในปีต่อไปของเลอมังค์ หมายความว่าเครื่องยนต์โรตารี (และเครื่องยนต์อื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจากนั้น) จะต้องถูกยกเลิกออกไปในปี 1992 และเครื่องยนต์ที่สร้างตาม Formula One จะกลายเป็นบรรทัดฐานของขุมพลังในรถแข่ง Group C 

Mazda เชื่อมั่นในหลักการของเครื่องยนต์สูบหมุนโรตารี โดยปรับแต่งพละกำลังของเครื่องยนต์สูบหมุนในรถแข่ง Group C มาตั้งแต่ปี 1983 รวมถึงการแข่งรถในอดีต นับตั้งแต่ Mazda Cosmo ได้อันดับที่สี่ (ตามหลัง Porsche 911 สองคันและ Fulvia HF) ในการวิ่งสุดทรหดยาวนานถึง 84 ชั่วโมง บนสนามนรกเขียว Nurburgring ในปี 1968 ใช่ครับ เป็นการแข่งเอนดูแรนซ์ระยะทางไกลโคตรนานถึง 84 ชั่วโมงไม่ใช่ 24 ชั่วโมงที่แข่งกันอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นหลังจาก 23 ปีของการแข่งรถด้วยเครื่องโรตารี นี่คือชอตสุดท้ายของเครื่องยนต์ปฏิวัติวงการ บนเวทีการแข่งรถระดับโลก ทศวรรษแห่งการขัดเกลาเครื่องยนต์สูบหมุนของ Mazda จนได้เครื่องยนต์โรตารีที่ดีที่สุดในโลก

ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้น Mazda ไม่ได้เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เจ้าแรกที่คิดค้นเครื่องยนต์สูบหมุนประสิทธิภาพสูง หรือที่เรียกกันว่าเครื่องโรตารี อันที่จริง เครื่องโรตารีเกิดจากความคิดของ Felix Wankel ซึ่งเป็นวิศวกรเยอรมันในยุคที่นาซีกำลังรุ่งเรือง Mazda นำเอาแบบแปลนของเครื่องยนต์โรตารีมาพัฒนาต่อยอด โดยผลิตเครื่องยนต์สูบหมุนมาแล้ว 18 รุ่น เริ่มจาก Mazda 110S Cosmo Sport ในปี 1967 และมาถึงจุดสูงสุดในยุค 70′ เครื่องยนต์สูบหมุนถูกวางลงในรถยนต์หลายรุ่น รวมถึงรถกระบะและรถบัสบางรุ่นของ Mazda ก็ยังใช้เครื่องยนต์โรตารีเพื่อรีดสมรรถนะ 

หมุนเวลากลับไปเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ในช่วงที่เครื่องยนต์ลูกสูบสามเหลี่ยมกำลังเฟื่องฟู เครื่องยนต์โรตารีสูบหมุนที่ไม่มีเพลาข้อเหวี่ยงเคยได้รับความนิยมและกลายเป็นที่รู้จักของผู้คน จากงานวิศวกรรมต้นกำลังที่มีขนาดเล็กแต่ให้กำลังมหาศาลของ Mazda ข้อดีของเครื่องยนต์ชนิดนี้ก็คือน้ำหนักที่เบา ขนาดที่เล็กกะทัดรัดเหมาะกับการวางในรถสปอร์ตไซส์เล็ก โรตารีให้กำลังในรูปของแรงบิดเหนือชั้นกว่าเครื่องยนต์ทั่วไปเมื่อเทียบกับขนาด ปริมาตรความจุและน้ำหนักของตัวเครื่อง ส่วนข้อเสียก็มีอยู่เพียบทั้งปัญหาเรื่องความร้อนในห้องเครื่องยนต์ การสึกหรอที่สูงกว่าเครื่องสูบเรียง รวมถึงมลพิษที่ปล่อยออกมา!

เครื่องยนต์สูบหมุนหรือเครื่องยนต์โรตารีแบบ 4 โรเตอร์ของ Mazda เมื่อ 19 ปีที่ผ่านมา สร้างปรากฏการณ์ครั้งยิ่งใหญ่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตโลก รถ Mazda 787B วางเครื่องยนต์โรตารี 4 โรเตอร์ อัดอากาศด้วยเทอร์โบ อนุพันธ์จักรกลรถแข่งเอนดูแรนซ์สมรรถนะสูงรุ่น 787B เป็นรถแข่งในประเภทกรุ๊ป C ถูกสร้างขึ้นโดยทีมแข่งของ Mazda สำหรับใช้ในการแข่งขันรถยนต์ทางเรียบระยะไกล ในรายการสปอร์ตเวิลด์แชมเปียนชิพของประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นรถแข่งคันนี้ได้ถูกปรับแต่งอย่างดี และส่งลงทำการแข่งขันในรายการแข่งรถแบบ 24 ชั่วโมง หรือ Le Mans ประจำฤดูกาล 1990-1991 รถแข่ง Mazda 787B ซึ่งมีน้ำหนักรวมทั้งคันแค่ 850 กิโลกรัม เครื่องยนต์โรตารี ให้กำลังถึง 700 แรงม้า

ในช่วงแรกๆ ของการสร้างรถแข่งเลอมังค์ Group C Mazda ใช้เครื่องยนต์โรตารี 13B แบบเดียวกับที่ใช้ขับเคลื่อนรถ Mazda บางรุ่นที่วิ่งบนท้องถนนกับรถแข่ง GT แต่การขยายขีดความสามารถ และแก้ไขข้อบกพร่องตลอดช่วงที่เกิดขึ้นในทศวรรษที่ผ่านมา หมายความว่าเมื่อ ถึงเวลาที่ 787B วิ่งแข่งอยู่ในสนาม Circuit de la Sarthe เครื่องยนต์ของมันคือสิ่งมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยี โรเตอร์สี่ตัว แต่ละตัว มีหัวเทียนสามหัว พอร์ตไอดีที่ผ่านการปรับแต่งอย่างถูกต้อง อุปกรณ์ต่อพ่วงพวกระบบอัดอากาศ ซีลปลายแบบเซรามิก ท่อไอดีสามารถยืดหรือสไลด์แบบผันแปรได้อย่างต่อเนื่อง โดยเลื่อนจากยาวไปสั้น และย้อนกลับอย่างราบรื่น เพื่อให้มั่นใจถึงแรงบิดช่วงกลางต่อเนื่องไปจนถึงรอบสูงสุด ไม่ใช่คุณภาพโดยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์โรตารี รวมถึงกำลังสูงสุด จุดเด่นของเครื่องยนต์ตัวนี้ก็คือ การหมุนในรอบสูงเพื่อสร้างแรงบิด โดยไม่คำนึงถึงอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงหรือการปล่อยมลพิษ และนั่นคือส่วนสำคัญของชัยชนะในรถแข่ง 787B

หลังจากการเปิดตัวที่น่าผิดหวังของรถแข่ง Mazda 787 ในปี 1990 Mazda กลับมาทำการบ้านใหม่หมดเกี่ยวกับระบบส่งกำลัง รวมถึงการปรับแต่งใหม่ทั่วทั้งคัน นั่นคือสิ่งสำคัญที่ต้องได้รับการปรับปรุงสำหรับ 787B ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งสรุปได้ว่า สิ่งที่นักแข่งในทีมต้องการ จากรถที่พวกเขากำลังขับด้วยความเร็วสูงบนสนามแข่ง ก็คือ ความน่าเชื่อถือ, ประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิง, ความเหมาะสมกับวงจรของการแข่งขัน, อัตราเร่ง, ความเร็วในการเข้าโค้ง, ความสะดวกสบายของคนขับและอื่นๆ ละแล้ว เมื่อรวบรวมข้อมูลทุกอย่างจนครบ วิศวกรของ Mazda ก็ลงมือทำ

หัวหน้าฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ Mazda ต้องการแรงม้าอีก 100 แรงม้าจาก 630 แรงม้า ในรุ่น 787 รวมถึงต้องการลดอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง อีก 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ เพื่อยืดระยะเวลาในการเข้ามาเติมเชื้อเพลิง ต้องขอบคุณการยกเครื่องครั้งใหญ่ ซึ่งมีการปรับปรุงมากกว่า 80 รายการ รวมถึงท่อไอดีแบบยืดหดได้ และหัวเทียนสามหัวต่อโรเตอร์ วิศวกรของ Mazda จัดการกับเครื่องยนต์จนได้แรงม้าเพิ่มเข้ามาอีก 70bhp เป็นการปรับแต่งเพื่อความทนทานสำหรับการแข่งขันระยะไกล (เครื่อง 4 โรเตอร์ตัวนี้ สามารถดันม้าได้ถึง 900 ตัว หากปรับแต่งอย่างถูกต้อง) เครื่องยนต์โรตารีรุ่นนี้ สามารถหมุนได้ 6,000 รอบต่อนาที ไปจนถึง 9,000 รอบต่อนาที ซึ่งหมายถึงแรงบิดสูงสุดอย่างน้อย 95 เปอร์เซ็นต์ จะเกิดขึ้นในรอบสูงสุด นั่นหมายความว่า เครื่องยนต์ของรถแข่ง 787B จะสามารถทนอยู่ได้ตลอดทั้งการแข่งขันนาน 1 วันเต็มๆ 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการแข่งขันที่เต็มไปด้วยค่าใช้จ่าย หมายความว่านักแข่งต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจและวุฒิภาวะอย่างมาก ในโค้งความเร็วต่ำ พวกเขาต้องเหยียบคันเร่งอย่างนุ่มนวล เพื่อประหยัด!! เครื่องยนต์ R26B มีเสียงครวญครางในรอบสูงและพุ่งทะยานพร้อมเสียงทุ้มต่ำเหมือนจักรยานยนต์ในรายการ MotoGP หรือเสียงท่อท้ายของรถแข่ง F1 ที่ใช้เครื่องยนต์ V12 เป็นเสียงที่ใช้คำอธิบายได้ดีที่สุดว่า เสียงของปีศาจที่แผดร้อง เป็นเสียงที่ทำให้ 787B กลายเป็นที่รักของผู้ชมในสนามแข่ง 

Mazda 787B หมายเลข 55 เริ่มต้นการสตาร์ตจากอันดับที่ 19 ในตาราง แม้จะผ่านเข้าเส้นในรอบแรกของการแข่งขันได้เร็วที่สุด จากอันดับที่ 19 ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 12 ก่อนการแข่งขัน หัวหน้าทีม Takayoshi Ohashi ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการใน FIA เพื่อยกเว้นการปรับในเรื่องของน้ำหนัก เห็นได้ชัดว่า ไม่มีใครคาดคิดว่า Mazda จะเป็นภัยคุกคามขนาดนั้น เพราะได้รับการยกเว้นน้ำหนักโดย FIA และ 787B ก็เข้าสู่สนามแข่งโดยมีน้ำหนักเพียงแค่ 830 กิโลกรัมเท่านั้น

ไม่ว่า Sauber Mercedes จะมีความเร็วทางตรงแค่ไหน รวมถึงความน่าเชื่อถือของรถ ประสบการณ์จากการแข่งขัน และงบประมาณที่ไม่จำกัด ทีม Sauber Mercedes ยังมีนักแข่งอย่าง Jochen Mass ซึ่งชนะการแข่งขัน Le Mans ในปี 1989 รวมถึง Michael Schumacher เด็กหนุ่มจากเยอรมันที่ขับได้เร็วจนน่าตกใจ  แต่การเค้นรถแข่งของ Schumacher ทำให้เกิดปัญหาของกระปุกเกียร์ ตามมาด้วยปัญหาร้ายแรงของแดมเปอร์เพลาข้อเหวี่ยงกับระบบระบายความร้อน จนเครื่องยนต์มีอุณหภูมิสูงเกินขีดจำกัด และต้องออกจากการแข่งขันกับรถแข่ง Mercedes ที่เหลือเป็นคันสุดท้ายในทีม

ด้วยความมุ่งมั่นของทีมแข่ง Mazda นำพารถแข่ง 787B ไปสู่จุดสูงสุดของมอเตอร์สปอร์ต เมื่อวินาทีสุดท้ายของการแข่งขันจบลง รถ 787B วิ่งผ่านเส้นชัยท่ามกลางเสียงไชโยโห่ร้องของคนญี่ปุ่น มันนำหน้ารถแข่งของทีม Jaguar ซึ่งอยู่ในอันดับสองถึงสองรอบ เสียงคร่ำครวญที่ 9,000 รอบต่อนาที และของขวัญที่เกิดจากความมุ่งมั่นก็คือชัยชนะในระดับสูงสุดของ Mazda  บนสนามแข่งระดับโลกอย่างเลอมังค์ 24 ชั่วโมง

จุดเด่นของรถ Mazda ในอดีต ที่วางเครื่องยนต์โรตารีและใช้ระบบขับเคลื่อนด้วยล้อคู่หลัง ก็คือ เครื่องยนต์สูบหมุนที่ทรงพลัง มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ให้แรงม้าและแรงบิดอย่างล้นเหลือ แต่มันได้เดินทางมาจนถึงวาระสุดท้าย เนื่องจากเครื่องยนต์โรตารี มีการสึกหรอของมุมหัวโรเตอร์ทั้งสามด้าน ที่ต้องหมุนด้วยความเร็วสูง แม้ลูกสูบสามเหลี่ยมของมันจะผลิตมาจากอัลลอยชนิดพิเศษที่มีความแข็งแกร่ง ทนทานมาก ก็ยังไม่อาจทนต่อการใช้งาน เมื่อมันต้องพบกับอุณหภูมิที่สูงอยู่ตลอดเวลา หากขับใช้งานในรอบสูงอย่างต่อเนื่อง เครื่องยนต์ยังกินเชื้อเพลิงมากกว่าเครื่องแบบสูบเรียง รวมถึงความเสียเปรียบเครื่องยนต์แถวเรียงอัดเทอร์โบรุ่นใหม่ที่มีขนาดเล็กลง กินเชื้อเพลิงเท่าที่จำเป็น มีแรงบิดที่ดีตั้งแต่รอบต่ำไล่ไปจนถึงรอบสูง และปล่อยมลพิษน้อยกว่าเครื่องยนต์โรตารี ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์ค่ามาตรฐานการปล่อย CO2 ทำให้ต้องยุติการจำหน่ายในทวีปยุโรปไปตั้งแต่ปี 2010 ตามมาด้วยการยกเลิกสายการผลิตในประเทศญี่ปุ่น เป็นการปิดฉากที่น่าเศร้าของเครื่องยนต์แบบสูบหมุนที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับความนิยมและแพร่หลายไปทั่ว.

อาคม รวมสุวรรณ

E-Mail chang.arcom@thairath.co.th

Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom

https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/