กระทุ้งรัฐอัดเงินกระตุ้นจีดีพี – ไทยโพสต์

เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน 2564 ยังไม่สะเด็ดน้ำจากปัญหาการระบาดของ  “โควิด-19” ที่ยังคงส่งผลกระทบซ้ำเติมทุกภาคส่วน ความเสียหายของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักไป ตั้งแต่รัฐบาลมีการใช้ “ไม้แข็ง” อย่างล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดในรอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ยังไม่ได้รับการเยียวยาจนหายขาด หลายภาคธุรกิจยังคงมีบาดแผลและบอบช้ำ แต่ก็แลกมากับการควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพ จนไทยได้รับการยกย่องจากหลายประเทศทั่วโลก ในเรื่องของความเด็ดขาดและประสิทธิผลของการจัดการโควิด-19

    

แต่เหมือนเคราะห์ร้ายยังไม่หายไป จนทำให้มีการระบาดในระลอกที่ 2 ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งต้องยอมรับว่าความรุนแรงในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อหนักหนาสาหัสกว่าระลอกแรกอยู่มาก แต่ในแง่ของเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์ แค่ชะลอหรืองดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนที่ “สุ่มเสี่ยง” แทน หลายส่วนอาจจะมองว่าความต่างเรื่องความเข้มข้นของมาตรการที่ใช้ควบคุมการระบาดในระลอกที่ 2 ที่เบากว่าระลอกแรกจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจมากนัก แต่นั่นก็ไม่เสมอไป!

    

ภาคธุรกิจหลายส่วนยอมรับว่า “กิจการอาจจะไปไม่รอด” แม้ว่าภาครัฐจะไม่ได้ใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างดุเดือด เพราะบาดแผลจากเมื่อครั้งการระบาดในระลอกแรกที่ยังไม่สนิทดี เมื่อรวมกับแผลใหม่ที่เกิดขึ้นทำให้อาการธุรกิจมีแต่ ทรง กับ ทรุด เท่านั้น ต่อเนื่องมาจนถึงล่าสุด การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่รอบนี้ดูเหมือนจะหนักหนาสาหัสน่าดู ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวนผู้ป่วยอาการหนัก จำนวนผู้ป่วยสะสมเฉพาะระลอกที่ 3 ไปจนถึงความน่าหดหู่ของจำนวนผู้เสียชีวิตที่อยู่ในระดับสูงเกือบทุกวัน และแม้กระนั้นรัฐบาลก็ยังไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อคุมการระบาดเหมือนเดิม โดยยังเลือกการงด หรือชะลอเพียงบางกิจกรรมทางเศรษฐกิจเท่านั้น รวมทั้งขอความร่วมมือประชาชนและภาคเอกชนในส่วนที่จำเป็นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แต่ดูเหมือนว่า “ยิ่งแก้ ก็ยิ่งแย่” จากตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับการระบาดที่มีการทุบสถิติใหม่แทบทุกวัน

    

ความยืดเยื้อของการระบาดที่ต่อเนื่องจากระลอก 2 มาถึงการระบาดในระลอกที่ 3 ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะจบที่ตรงไหน ทำให้มุมมองต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยถูกปรับเปลี่ยนไปอีก โดยล่าสุด เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ  ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ผลกระทบของความรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ในระลอกที่ 3 รวมถึงการกระจายวัคซีนที่ยังไม่มีความแน่นอน ตลอดจนการระบาดที่เกิดขึ้นในหลายระลอก  ประกอบกับมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลที่มีออกมาอย่างต่อเนื่อง

    

ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องสะดุดเป็นช่วงๆ มีผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริการ และการใช้จ่ายของประชาชนรวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ซึ่งรายใดที่สายป่านสั้นก็ต้องหยุดดำเนินกิจการ หลายธุรกิจขาดสภาพคล่องจึงจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเร่งด่วนนั้น ปัจจัยทั้งหมดส่งผลให้คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอาจจะล่าช้าออกไป  โดยอาจจะต้องรอถึงไตรมาส 1/2566 กว่าที่เศรษฐกิจจะกลับมาเติบโตในระดับปกติเหมือนก่อนช่วงเกิดการระบาดของโควิด-19 ได้ จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะพลิกกลับมาเติบโตได้ในช่วงไตรมาส 2-3/2565

    

ขณะที่ ทนง พิทยะ อดีต รมว.การคลัง กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเจอวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ 3 แม้จะไม่หนักหนาเท่าวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ก็เชื่อว่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนช่วงก่อนเกิดการระบาด และเดินหน้าได้อย่างมีศักยภาพ ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการมองไปข้างหน้าถึงภาพการแข่งขันของตลาดโลกในระยะข้างหน้า นั่นหมายถึงไทยจำเป็นต้องปรับตัว เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การแข่งขันที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้น

    

สิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรียกว่ากับดักรายได้ปานกลาง คือเศรษฐกิจไม่โต เพราะไทยอยู่กับสมบัติเก่า ไม่มีสมบัติใหม่ที่จะสร้างผลผลิตและการแข่งขันใหม่ๆ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามลงทุนโครงสร้างพื้นฐานบ้าง  แต่ก็ยังน้อยเกินไป ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลที่อาจจะค่อนข้างมีวินัยสูงมาก กลัวเรื่องการใช้งบประมาณ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 40-50% เท่านั้น เพิ่งจะเกินมาเป็น 50% ช่วงโควิด-19 เพราะรัฐบาลต้องอัดฉีดเงินช่วยประชาชน ไม่ใช่การอัดฉีดเพื่อเพิ่มการลงทุนใหม่ๆ ตรงนี้ก็อาจจะถือเป็นข้อดีอย่างหนึ่ง ว่าภาคการคลังของไทยค่อนข้างแข็งแกร่ง ทำให้มีช่องว่างในภาคการคลังที่รัฐบาลสามารถใช้นโยบายการคลังเพื่อพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้

    

ส่วนที่หลายคนถามว่ามีความจำเป็นจะต้องขยับเพดานกู้หรือไม่นั้น ซึ่ง “ทนง” มองว่าหน้าที่ของรัฐบาลคือ การใช้เงินเพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้โตได้ 5% ก่อน  เศรษฐกิจจึงจะสามารถตั้งฐานใหม่ได้ เพราะถ้าโตไม่ได้ 5% รัฐบาลก็จะทำได้แค่ใช้เงินเพื่อเยียวยา แต่ไม่ช่วยให้เกิดการผลิตหรือการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดการจ้างงานได้ในอนาคต

  

 “ผมไม่ได้มองว่าโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจพัง เพราะพื้นฐานของไทยเข้มแข็งมาก แต่ประเทศไทยต้องกล้าที่จะทำเพื่อการเปลี่ยนแปลงและการเติบโต อย่ากลัวเรื่องหนี้  การจะจ่ายแต่เงินเยียวยา ก็คือการสร้างหนี้แบบซึมๆ ผมมองว่ารัฐบาลจะต้องอัดฉีดเงินเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีก 20% เพื่อจีดีพีของประเทศ ภายในระยะเวลาอีก 2 ปีข้างหน้า ให้จีดีพีโตได้ถึง 5% อีกครั้ง แน่นอนว่าตัวเลขหนี้สาธารณะอาจจะปรับสูงขึ้น แต่เมื่อเศรษฐกิจพลิกกลับมาโตได้ภาระหนี้ก็จะลดลง จึงไม่อยากให้กลัวเรื่องหนี้มากเกินไป ส่วนตัวผมกลัวว่ารัฐบาลจะใช้เงินเยียวยาอย่างไรมากกว่า”

    

ส่วนผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยยังต้องอาศัยมาตรการเยียวยาอย่างมหาศาลเพื่อชะลอความรุนแรงของการระบาด จึงอาจจะยังได้เห็นภาพของรัฐบาลที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เพราะทุกคนต่างก็บอกว่า “ต้องอัดฉีดเงิน ถ้าไม่ทำนั่นคือผลเสีย” โดยเฉพาะความเสียหายของภาคการท่องเที่ยวและบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง คิดเป็นรายได้ถึง 20% ของประเทศไทย ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเราจึงได้เห็นตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2563 ติดลบสูงถึง 6% เม็ดเงินรายได้หายไปกว่า 1 ล้านล้านบาท  และการจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาโตที่ 5-6% รัฐบาลอาจจะต้องใช้เงินอีก 2 ล้านล้านบาทเพื่อฉีดเข้าระบบ ซึ่งจำนวนเงินดังกล่าวก็อาจจะทำได้แค่เยียวยาเท่านั้น หากยังไม่สามารถกำจัดโควิด-19 ออกไปจากระบบได้

    

อีกเรื่องที่ไทยต้องยอมรับคือ โลกจะมีการแข่งขันกันด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เข้าสู่ยุคเศรษฐกิจใหม่ หรือเศรษฐกิจยุคดิจิทัล หมายความว่าโลกธุรกิจในระยะต่อไปจะไม่เหมือนในตำราการบริหารธุรกิจที่เรียนกันมา แต่จะหันมาแข่งกันในเรื่องเทคโนโลยีแทน สะท้อนจากการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ การฝังไมโครชิปในอุปกรณ์เครื่องใช้อย่างสมาร์ทโฟน การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) นั่นคือภาพของการแข่งขันด้านเศรษฐกิจหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง

    

และด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งจากการเร่งพัฒนาเทคโนโลยี การขยายฐานการลงทุน ไปจนถึงการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มองเห็นภาพค่อนข้างชัดเจนว่า “จีน” จะเป็นผู้ชนะของเกมการแข่งขันกับสหรัฐฯ และจีนจะกลายเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีทางเลือก ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจในระยะต่อไป นั่นหมายถึง ไทยจำเป็นจะต้องจับมือกับจีนให้มากที่สุด จากความชัดเจนของนโยบายพลังงานทางเลือกของจีน ที่น่าจะส่งผลดีกับนโยบายในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถอีวีของไทยซึ่งปัจจุบันยังไม่เกิด แม้ว่าไทยจะเป็นประเทศที่ลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์อย่างมากก็ตาม

  

 เพราะไทยไม่มีแผนที่ชัดเจนในการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากไทยไม่ทำอะไรเลย ท้ายที่สุดฐานแรงงานในการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของไทยจะได้รับผลกระทบ และสิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ การสูญเสียโอกาสในการเป็นฐานการผลิตและเทคโนโลยีของอีวีให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความพร้อมมากกว่าไทย นี่คือทางออกหนึ่งที่ไทยต้องเร่งจัดการตั้งแต่ตอนนี้ แทนที่จะจมอยู่กับโรคระบาดอย่างโควิด-19 เพียงอย่างเดียว

    

ประเทศไทยค่อนข้างล้าหลังกว่าคนอื่นมาก นี่เป็นสิ่งที่น่ากลัว จากการทำนายทางเศรษฐกิจพบว่า ในเอเชียมีโอกาสโตได้ประมาณ 7-8% แต่ไทยตอนนี้จีดีพีจะโต 3-4% ก็เป็นเรื่องยากแล้ว ดังนั้นอาจจะต้องหันกลับมาถามตัวเองว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ส่วนสมรรถนะในการแข่งขันที่ไทยยังไม่ได้พัฒนา คือการประยุกต์เอาสมองกล (AI) เข้ามาในกระบวนการผลิตและจำหน่าย ไทยทำอยู่แค่พยายามให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (BOI) เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติที่ใช้เทคโนโลยีสูงๆ เข้ามา ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งของนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ไทยตั้งใจจะพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ก็ถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ในระยะต่อไปจะใช้ระบบออโตเมชันมากขึ้น ต้องยอมรับว่าเหล่านี้เป็นความพยายามจากนโยบายของภาครัฐ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจจะช้าไปมากกว่าที่ควรจะเป็น หรือยังไม่ค่อยมีการพัฒนามากนักก็ตาม

  

 “ทนง” ระบุว่า ได้แบ่งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยออกเป็น 2 ระยะ คือ ปัญหาเก่า/ปัญหาระยะสั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ความเข้าใจและไม่เข้าใจของประชาชนที่สะสมมา โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินถึง 1 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจก็ยังติดลบ เพราะเศรษฐกิจเสียหายไปเยอะมาก แม้รัฐบาลจะพยายามอัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือเข้าไปยังไง เศรษฐกิจก็ยังติดลบ ทำให้อาจต้องกลับมาทบทวนดูว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลควรทำอะไรและแก้ไขอะไรได้บ้างมากกว่า

    

จุดแรกที่ต้องคิดย้อนกลับไปดูตั้งแต่ตอนที่ใช้มาตรการล็อกดาวน์และสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ ตอนนั้นประชาชนเชื่อมั่นมาก นานาประเทศก็ยกย่องว่าไทยเก่งมากในการแก้ปัญหาดังกล่าว แต่มาถึงปัจจุบันไทยไม่สามารถหยุดการระบาดได้ จากการที่เคยมั่นใจในตัวเอง ก็มาถึงจุดที่ไม่แน่ใจว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ดังนั้นสิ่งที่เคยมั่นใจว่าทำสำเร็จ อันที่จริงแล้วมันคือความประมาทเลินเล่อที่ทำให้เกิดการระบาดครั้งใหม่มากกว่า

    

วินัยของประชาชนไม่ใช่ปัญหา แต่ความไร้วินัยของบางคนเท่านั้นที่เป็นปัญหาของเรื่องนี้ การระบาดระลอกนี้เกิดจากบ่อนพนัน คลับ บาร์ และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ  สำหรับประเทศไทยคำว่าวินัยหายไปเพราะลืมตัวเอง  อาจเป็นความโชคไม่ดีของประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้าไปจัดการปัญหา และการแก้ปัญหาที่ทำได้ตอนนี้คือการรอวัคซีนให้เพียงพอ เพราะทั่วโลกก็มองเหมือนกันว่าการฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุดจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าถ้ารัฐบาลจัดการการฉีดวัคซีนจะไม่ทันต่อการแก้ปัญหาแน่นอน เรื่องนี้ต้องให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วย ก็อยากฝากให้รัฐบาลตระหนักถึงประเด็นนี้!

  

 อีกปัญหาคือปัญหาระยะยาว เป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศไทย โดยหากถามว่าในอนาคตประเทศไทยจะแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในโลกต้องใช้อุตสาหกรรมอะไร ก็ได้คำตอบว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมรถยนต์  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็เติบโตได้ในระดับหนึ่ง แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็ขาดการพัฒนาในเรื่องเทคโนโลยีไป สิ่งที่ไทยเหลือตอนนี้คือ  “ทรัพยากรมนุษย์” แต่ก็ต้องมาดูอีกว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทำได้แค่ไหน

  

 ทางออกหนึ่งคือไทยต้องเปิดประเทศ เพื่อเปิดให้แรงงานที่มีฝีมือ มีความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาให้ได้ แต่ก็ยังมีอุปสรรคเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ไทยอยู่ระดับ 35% สูงกว่าฮ่องกง สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตรงนี้ทำให้ต้องมาถามตัวเองอีกครั้งว่า “ทำไมไทยไม่เป็นศูนย์กลางของอาเซียน?” ส่วนการจะแก้ปัญหาด้วยการลดภาษีดังกล่าวก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่อีก ทั้งหมดจึงเป็นคำตอบว่า การเก็บภาษีของไทยยังไม่มีศักยภาพในการสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างบุคลากรที่มีฝีมือได้มากพอนั่นเอง

    

“ทนง” ทิ้งท้ายว่า อีกประเด็นที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้คือ “ระบบการศึกษา” ที่จะสร้างให้คนเข้าใจการใช้เครื่องมือดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ มากกว่าเป็นของเล่นเพื่อทำให้คนอื่นเห็นว่าตัวเองมีความสุขและมีเสน่ห์.