Honda Track Xperience ประสบการณ์ดีๆ ที่สายซิ่งไม่ควรพลาด

เชื่อว่าคนที่ซื้อรถมอเตอร์ไซค์ทรงสปอร์ตของ Honda สักคัน ย่อมมีความฝัน หรืออยากจะได้เห็นตนเองได้ไปวาดลวดลายในสนามแข่งขันสักครั้ง และนั่นคือจุดเริ่มต้นของกิจกรรม Honda Track Xperience ประสบการณ์ดีๆ ที่ลูกค้าสายซิ่งไม่ควรพลาด ในครั้งนี้

Honda Track Xperience คือกิจกรรมที่ทาง Thai Honda จัดขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้า ที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์จากฮอนด้า ได้สัมผัสกับประสบการณ์ในสนามแข่งขันระดับโลกอย่าง ช้างฯ อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต กับรถคู่ใจของตนเอง

แต่ใช่ว่าขอแค่คุณสนใจในกิจกรรมนี้แล้วจะสามารถเข้าร่วมได้เลย เพราะในความเป็นจริงแล้ว มันยังมีเงื่อนไขอีกเล็กน้อยที่คุณต้องรู้ก่อน

เริ่มจากแพ็คเกจการเข้าร่วมงาน ที่ปกติแล้วทาง Honda จะจัดให้ลูกค้าได้ลงสนามช้างฯ ต่อเนื่องกัน 2 วันติด โดยหากคุณมาตัวคนเดียวพร้อมรถหนึ่งคัน แล้วต้องการลงสนามทั้ง 2 วัน พร้อมกับต้องการที่พักครบๆ ก็จะมีค่าธรรมเนียมในการร่วมกิจกรรมที่ 4,500 บาท (ยังไม่รวมภาษี 7% และสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า)

หรือหากคุณมากับเพื่อน ต้องการพักด้วยกัน 2 คน ค่าใช้จ่ายก็ลดลงไปอีกเล็กน้อย หรือจะร่วมงานเพียงวันเดียว หรือมีผู้ติดตาม ก็จะมีค่าธรรมเนียมที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีก ได้แก่

แพ็คเกจ 2 วัน

  • ผู้ขับขี่พักเดี่ยว 2 วัน : 4,500 บาท
  • ผู้ขับขี่พักคู่ 2 วัน : 3,500 บาท
  • ผู้ขับขี่ไม่พัก 2 วัน : 2,500 บาท
  • ผู้ติดตาม 2วัน : 2,000 บาท
  • ผู้ติดตามไม่พัก 2วัน : 1,000 บาท
  • เจ้าหน้าที่ DLR ขับขี่ 2 วัน : 3,500 บาท
  • เจ้าหน้าที่ DLR ไม่ขับขี่ 2 วัน : 1,000 บาท

แพ็คเกจ 1 วัน

  • ผู้ขับขี่พักเดี่ยว 1 วัน : 3,000 บาท
  • ผู้ขับขี่พักคู่ 1 วัน : 2,500 บาท
  • ผู้ขับขี่ไม่พัก 1 วัน : 2,000 บาท
  • ผู้ติดตาม 1 วัน : 1,000 บาท
  • ผู้ติดตามไม่พัก 1 วัน : 500 บาท
  • เจ้าหน้าที่ DLR ขับขี่ 1 วัน : 2,500 บาท
  • เจ้าหน้าที่ DLR ไม่ขับขี่ 1 วัน : 500 บาท

โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ จะครอบคลุมตั้งแต่ การนำรถลูกค้า ขนส่งจากศูนย์บริการ Honda Big Wing ไปยังสนามช้างฯ, ค่าธรรมเนียมการเข้าสนาม, ค่าที่พัก, ค่าเจ้าหน้าที่ดูแลสนาม ครูฝึก ไปจนถึงทีมพยาบาล และการประกันอุบัติเหตุ(เฉพาะตัวผู้ขี่)

หลังเลือกแพ็คเกจได้แล้ว อีกสิ่งสำคัญก็คือ ในกิจกรรมนี้ลูกค้าจะต้องมีรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นตระกูล CBR-Series เอาไว้ใช้ในการลงสนาม นั่นคือ

  • Honda CBR300R
  • Honda CBR500R
  • Honda CBR650F
  • Honda CBR650R
  • Honda CBR250RR / CBR250RR SP
  • Honda CBR600RR
  • Honda CBR1000RR / CBR1000RR SP
  • Honda CBR1000RR-R / CBR1000RR-R SP
  • พิเศษ VFR1200F ลงได้ด้วย เพราะอย่างน้อยก็เป็นรถมอเตอร์ไซค์ในกลุ่มสปอร์ตทัวร์ริ่ง

และทั้งนี้ ในส่วนของรถสปอร์ตเนคเก็ทอย่างตระกูล CB-Series เอง ก็ยังลงได้ด้วย ซึ่งก็คือ

  • CB300F
  • CB300R
  • CB500F
  • CB650F
  • CB650R
  • CB1000R

และเพื่อไม่ให้เป็นการปิดกั้นมากเกินไป อันที่จริงทาง Honda ยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์แบรนด์อื่น แต่กำลังสนใจในรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้า หรือใช้รถมอเตอร์ไซค์ของฮอนด้ารุ่นอื่นๆ แต่อยากสัมผัสบรรยากาศในการลงสนามด้วยตนเอง

สามารถเช่ารถมอเตอร์ไซค์ของบริษัท เพื่อทดลอง และใช้ในการเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้ด้วย โดยจะมีทั้ง

  • Honda CBR250RR
  • Honda CBR500R
  • Honda CBR650R
  • Honda CBR1000RR
  • Honda CBR1000RR-R (กรณีพิเศษ สำหรับลูกค้าที่ตั้งใจจะซื้อรุ่นนี้จริงๆเท่านั้น)

ซึ่งการเช่ารถในส่วนนี้ จะเริ่มต้นตั้งแต่ 6,000 บาท / วัน ไปจนถึง 20,000 บาท / 2 วัน และที่สำคัญคือในการเช่ารถที่ว่านี้ จะมีทีมช่างเทคนิคของ Honda ซึ่งช่างฯบางท่านมีดีกรีเป็นถึงทีมช่างที่ดูแลรถแข่งในการแข่งขัน Asia Road Racing ตัวจริงเลยทีเดียว

นอกจากการมีรถสำหรับไว้ลงสนามแล้ว อีกสิ่งที่ทาง Honda ให้ความสำคัญ และคุณก็จำเป็นต้องมีเช่นกัน คือ ชุดสำหรับใช้งานในการลงสนาม ซึ่งชุดที่ทางผู้จัดแนะนำที่สุด ก็แน่นอนว่าจะต้องเป็นชุดแข่งเต็มระบบ ที่จะประกอบไปด้วย

  • หมวกกันน็อคเต็มใบ พร้อมสายรัดคางแบบ DD Ring (ใช้หมวกกันน็อคเปิดคาง/ครึ่งใบ หรือหมวกที่มีสายรัดคางแบบอื่นนอกเหนือจาก DD Ring ไม่ได้)
  • ถุงมือข้อยาว/ครึ่งข้อ พร้อมการ์ดกันกระแทก (ใช้ถุงมือข้อสั้น หรือถุงมือเอนดูโร่ไม่ได้)
  • รองเท้าเรซซิ่งบู้ท / ไรดิ้งบู้ทหุ้มข้อ พร้อมการ์ดกันกระแทก (ใช้รองเท้าเดินป่า หรือรองเท้าผ้าใบไม่ได้)
  • เรซซิ่งสูท หรือ ไรดิ้งสูท แบบมีซิปต่อระหว่างเสื้อกับกางเกง เท่านั้น (ใส่แค่เสื้อการ์ด กับกางเกงการ์ด เฉยๆ หรือด้อยกว่านั้นลงสนามไม่ได้เด็ดขาด)

และเช่นเดียวกับรถ เนื่องจากลูกค้าบางคนอาจไม่สะดวก ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมลงสนาม จึงสามารถเช่าอุปกรณ์ไรดิ้งเกียร์เหล่านี้ได้ที่สนาม ด้วยค่าใช้จ่ายแบบเหมาที่ 2,000 บาท (แต่ต้องแจ้งความประสงค์ก่อนตอนลงทะเบียน และไซส์ของชุดก็มีจำกัด)

เมื่อมีทั้งรถ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการขี่ลงสนามครบแล้ว ในส่วนของกิจกรรม อันที่จริงทาง Honda จะมีการแบ่งกลุ่มลูกค้าตามทักษะและประสบการณ์ก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ร่วมกิจกรรมเอง ซึ่งจะแบ่งดังนี้

  • Rookie : ลูกค้าหน้าใหม่ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ลงสนามมาก่อน หรือไม่เคยลงสนามช้างมาก่อน รวมถึงไม่มี หรือมีทักษะการขี่รถแบบเรซซิ่งน้อยมากๆ
  • Experience : ลูกค้าที่มีประสบการณ์การขี่รถในสนามมาแล้ว และมีทักษะในการขี่รถแบบเรซซิ่งพอประมาณ
  • Advance : ลูกค้าที่ช่ำชองในการขี่รถแบบเรซซิ่งระดับสูง
  • Pro : นักแข่ง

เข้าสู่งานวันจริง

แน่นอน แม้ส่วนตัวผู้เขียนเอง จะมีประสบการณ์ในการขี่รถแบบเรซซิ่งมาแล้วหลายครั้ง และเคยลงสนามช้างมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่มันก็เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งถือว่าค่อนข้างนานพอสมควร ดังนั้นตัวผู้เขียนจึงเลือกที่จะลงขี่กับกลุ่มลูกค้าในรุ่น Rookie เพื่อรื้อฟื้นพื้นฐานใหม่ทั้งหมด

ซึ่งในขณะที่ลูกค้ากลุ่มอื่นๆ ทั้ง Experience, Advance, และ Pro สามารถรับฟังแค่เพียง กติกาพื้นฐานในการใช้สนาม และเวลาในการวิ่งของแต่ละกลุ่ม ก็สามารถเดินออกจากห้องบรีฟข้อมูลในช่วงเช้าของวันแรก แล้วไปแต่งตัว เตรียมความพร้อมของรถ เพื่อลงสนามตามกรอบเวลาที่ทีมงานฮอนด้าจัดไว้ได้เลย

สำหรับลูกค้าในกลุ่ม Rookie ทางทีมครูฝึก ซึ่งนำโดยนักแข่งมากประสบการณ์หลายท่าน เช่น พี่ฟีม รัฐภาค วิไลโรจน์ นักแข่งรถมอเตอร์ไซค์ชิงแชมป์โลกระดับ Moto2 คนแรกของประเทศไทย ตามด้วยน้องๆนักบิดในรายการ Asia Road Racing ทั้ง ดรีม สิทธิศักดิ์ อ่อนเฉวียง และ นิว กฤชพร แก้วสนธิ

ก็จะมาคอยให้คำแนะนำเพิ่มเติม เกี่ยวกับท่าทางการขับขี่รถในสนามที่ถูกต้อง รวมไปถึงการจัดการตัวเองขั้นพื้นฐานต่างๆ ตั้งแต่การขี่รถในช่วงทางตรง, การเข้าโค้ง, การอยู่ในโค้ง, ไปจนถึงการออกโค้ง แม้แต่การวาดเรซซิ่งไลน์ และการไล่เกียร์ในแต่ละจุดของสนามที่ถูกต้อง ก็ยังถูกบอกกล่าวให้ทั้งหมดในการบรีฟช่วงเช้า

เท่านั้นยังไม่พอ สำหรับลูกค้าในกลุ่ม Rookie ยังต้องลงไปฝึกจัดท่าทางในการขี่แบบเรซซิ่ง ที่ลานจอดรถหลังพิทก่อนที่จะไปลงสนามจริงๆ เพื่อวอร์มอัพร่างกาย และทำความคุ้นเคยกับทักษะใหม่ที่ถูกต้อง ซึ่งแน่นอนว่าการฝึกนี้ก็จะมีเหล่าอาจารย์นักบิดตัวจริงมาคอยดูท่าทาง และให้คำแนะนำแบบตัวต่อตัว สำหรับใครก็ตามที่ยังไม่มั่นใจ

เมื่อถึงเวลาของการลงสนามจริงๆ นอกจากการแต่งตัวให้เรียบร้อย อีกสิ่งหนึ่งที่ทางทีมงานแนะนำให้ผู้เข้าร่วมต้องทำด้วย ก็คือการเตรียมและเช็คความพร้อมของตัวรถ ที่ไม่ใช่แค่การเติมน้ำมันให้พร้อมเท่านั้น แต่ยังมีทั้งการเก็บ/ถอด กระจกมองข้าง กับป้ายทะเบียน, การแปะสติ๊กเกอร์/เทป ที่ดวงไฟหน้า+ไฟเลี้ยว เพื่อป้องกันการแตกกระจายในสนาม กรณีผู้ขี่เกิดพลาดขึ้นมาด้วย เช่นเดียวกับการถอดเซนเซอร์พักเท้าออก เพื่อป้องกันการเกี่ยวกับพื้นสนามขณะเข้าโค้ง จนเสี่ยงต่อการพลาดล้ม

โดยหลังจากเตรียมความพร้อมของทั้งคนและรถเสร็จแล้ว ทางทีมงานก็จะเรียกให้ลูกค้าที่ต้องลงสนามในรอบต่างๆ นำรถมาติดตั้งตัวจับเวลา หรือที่เรียกกันว่า ทรานสปอร์ตเตอร์ เพื่อที่ลูกค้าจะได้สามารถเก็บเวลาต่อรอบของตนเองในแต่ละเซสชันได้ เช่นเดียวกับการติดตั้งป้ายหมายเลขประจำตัวรถก่อนลงสนาม

น่าเสียดายที่ในการเข้าร่วมกิจกรรม Track Xperience ครั้งนี้ของผู้เขียน ไม่สามารถนำรถของตนเองมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้ทัน จึงทำให้ในวันจริงต้องใช้รถที่ทาง Honda จัดไว้ให้กับทีมสื่อฯ ซึ่งหลักๆแล้วก็มีหลายรุ่นให้ลองหวดด้วยกัน ทั้ง Honda CBR500R, Honda CBR650R, และ Honda CBR600RR

แต่อย่างที่ผู้เขียนได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้น ร้างการลงสนามไปนาน จึงขอเลือกไล่ระดับจากรถที่สามารถขี่ได้ง่ายที่สุดในลิสต์ที่มีให้เลือก อย่างเจ้า CBR500R มาลองซ้อมในช่วงแรกๆก่อน ซึ่งจากการจับเวลาเล่นโดยคร่าวๆ ก็ได้เวลาดีที่สุดกับรถคันนี้ในวันแรกที่ตัวเลข 2’22.xxx – 2’23.xxx นาที

เมื่อเริ่มชินกับสนามแล้ว แทนที่ผู้เขียนจะเลือกไปขี่รถรุ่นใหญ่กว่า แต่กลับขอเลือกที่จะใช้เจ้า CBR250RR ที่แม้จะแรงน้อยกว่า CBR500R นิดหน่อย แต่ก็มาพร้อมกับช่วงล่าง และการออกแบบ การเซ็ทอัพตัวรถแบบเดิมๆออกโรงงานที่เหมาะกับการหวดในสนามมากกว่าแทน

และที่สำคัญคือ มันเป็นรถรุ่นเกือบจะเดียวกันกับรถส่วนตัวที่ตัวผู้เขียนใช้อยู่ จึงของ่วนอยู่กับมันดีกว่า เพื่อความคุ้นชิน

และอย่างที่บอกไปว่า ในการขี่รถในสนามช้างฯครั้งนี้ เราจะไม่ได้ขี่กันแค่เฉพาะกับกลุ่มลูกค้าที่มีทักษะพอๆกันเท่านั้น แต่เหล่าอาจารย์ที่บรีฟเราในตอนเช้า ก็จะมาร่วมขี่ด้วย เพื่อคอยสังเกตท่าทางของเหล่าลูกค้า ตามโค้งต่างๆว่าทำได้ถูกต้อง หรือเหมาะสมแล้วหรือยัง

หรือหากลูกค้าบางคนสามารถขี่ได้เร็วพอ อาจารย์นักบิดก็จะคอยนำไลน์ให้เลย เพื่อให้เราได้ขี่ตามไลน์ที่ควรจะเป็นได้เลย

โดยในทันทีที่ขี่เสร็จ หากคุณยังสงสัยในความเร็ว ท่าทางของตนเอง หรือสงสัยในการเข้าโค้ง ณ มุมไหนๆ ก็ตาม ก็สามารถเดินมาถามอาจารย์นักแข่งแบบตัวต่อตัวได้เลย ซึ่งอาจารย์ทุกท่านก็ยินดีให้คำแนะนำอย่างเต็มที่ ไม่เว้นแม้แต่น้องๆนักบิดจากเวที Asia Road Racing ก็ตาม

และเชื่อเถอะครับว่าทุกคำแนะนำที่น้องๆนักบิด และอาจารย์ให้มานั้น จะเป็นประโยชน์ในการกดเวลาต่อรอบให้ลดน้อยลงได้อีกมากแน่นอน ถ้าคุณเปิดใจและพร้อมที่จะทำตามมากพอ เมื่อลงสนามในเซสชันถัดไป

ถัดมาอีกวัน (ขอข้ามวันแรกไปเลย เพราะง่วนอยู่กับการปรับตัว และปรับพื้นฐานตนเองให้แน่นก่อน) คราวนี้ผู้เขียนได้จังหวะเหมาะ ที่จะได้ลองจับรถมอเตอร์ไซค์รุ่นเดียวกันกับที่ตนเองใช้อยู่สักที นั่นคือ Honda CBR250RR SP ที่เหนือกว่า CBR250RR อีกนิด ด้วยเครื่องยนต์ที่แรงกว่า, ระบบส่งกำลังที่มีสลิปเปอร์คลัทช์มาให้, และระบบควิกชิฟท์เตอร์ ที่ช่วยให้การต่อเกียร์มีความต่อเนื่องมากกว่า เช่นเดียวกับตอนลดเกียร์ที่ทำให้เราไม่ต้องมากำคลัทช์ เบิ้ลคันเร่งเพื่อลดอาการล้อสไลด์ตอนเข้าโค้งเอง

เมื่อประกอบกับคำแนะนำเพิ่มเติมจากอาจารย์นักบิด ที่คอยจับตามองจากด้านหลัง และขึ้นมานำไลน์ให้ในหลายๆรอบเมื่อวันแรก จึงทำให้เวลาต่อรอบที่ผู้เขียนสามารถทำได้ดีที่สุดกับ CBR250RR SP เดิมๆ เพิ่มเติมแค่ยางกึ่งสลิค ในสนามช้างฯ ของกิจกรรมรอบนี้ อยู่ที่ 2’18.xxx นาที

ซึ่งนั่นถือว่าดีกว่าเวลาที่ผู้เขียนทำได้กับรถ CBR500R ใส่ยางสลิคในช่วงเช้าของวันเดียวกันอีก เพราะในรอบดังกล่าวผู้เขียนสามารถกดเวลากับรถคันนี้ได้ 2’19.xxx นาที

แต่นั่นยังไม่ใช่เวลาที่ดีที่สุด ที่ผู้เขียนสามารถทำได้ในการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เพราะมีสองเซสชัน ที่ผู้เขียนอยากลองสัมผัสกับซุปเปอร์สปอร์ตที่แรงขึ้นอีกพอสมควรอย่าง Honda CBR600RR ซึ่งเรียนตามตรงว่าด้วยประสบการณ์ของตนเอง และร่างกายของตนเอง ที่ยังไม่แกร่งกล้าพอ จึงทำให้สามารถกดเวลาบนเจ้ารถรุ่นนี้ ได้เพียง 2’12.xxx นาที เท่านั้น

โดยหากมีโอกาสอีกครั้ง ในรอบหน้า จะขอกดเวลาลงต่ำกว่า 2’10.xxx ให้ได้ และหวังว่าผู้อ่านทุกท่าน จะได้มาสัมผัสกับประสบการณ์ดีๆแบบนี้เช่นกัน กับงาน Honda Track Xperience ในปี 2023 ซึ่งทุกท่านสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกิจกรรมนี้กันได้ที่เพจ Honda BigBike Thailand

ขอขอบคุณ Thai Honda ที่ให้โอกาสทีมงาน Ridebuster ได้เข้าร่วมในกิจกรรม Honda Track Xperience ในครั้งนี้