DID YOU KNOW : โมโตจีพี เจ้าความเร็วแห่งโลก 2 ล้อ ล้มครั้งหนึ่งเสียค่าซ่อมเท่าไร?

ในโลกแห่งการแข่งขันความเร็วนั้น “ฟอร์มูล่า 1” หรือรถสูตรหนึ่ง อาจจะเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยความเร็วสูงสุดที่สามารถทำได้ถึง 233 ไมล์/ชั่วโมง หรือประมาณ 375 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าวัดกันแค่วงการรถสองล้อหรือมอเตอร์ไซค์ แน่นอนว่าตำแหน่งราชาต้องตกเป็นของ “โมโตจีพี” ที่สามารถบิดหมดปลอกได้เร็วถึง 221 ไมล์/ชั่วโมง หรือประมาณ 356 กิโลเมตร/ชั่วโมง (อันเดร โดวิซิโอโซ่ เคยทำไว้ในการแข่งขัน Italian Grand Prix ที่สนาม มูเจลโล่ ปี 2018)

การจะสร้างสรรค์มอเตอร์ไซค์ที่สามารถทำความเร็วได้ขนาดนี้ แน่นอนว่าต้องใช้เม็ดเงินมหาศาล แต่บ่อยครั้งที่เรานั่งดูถ่ายทอดสดการแข่งขันโมโตจีพี แล้วเห็นนักขับพลาดท่าล้ม พลิกคว่ำกระเด็นกระดอนไปคนละทิศละทาง จึงเป็นที่มาของคำถามตั้งต้นบทความในครั้งนี้ว่า มอเตอร์ไซค์ระดับสูงอย่างโมโตจีพีนั้น การล้มแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไรเพื่อซ่อมแซมให้มันกลับมาเหมือนเดิม

ติดตามคำตอบของคำถามนี้ไปพร้อมกันได้ที่ Main Stand

โมโตจีพีคืออะไร?

ก่อนจะไปถึงคำตอบของคำถามสำคัญ เรามาเพิ่มเติมความรู้กันก่อนดีกว่า ว่าที่เรียกกันติดปากว่าโมโตจีพีนั้น แท้จริงแล้วความหมายของมันคืออะไรกันแน่

This image is not belong to us

คำว่า โมโตจีพี นั้นมีความหมายอยู่ 2 ความหมาย โดยความหมายแรกคือเป็นชื่อเรียกของการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดย FIM หรือ Fédération Internationale de Motocyclisme (สหพันธ์จักรยานยนต์นานาชาติ) เป็นผู้จัดการแข่งขัน และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 1949 การแข่งขันนี้มีชื่อเรียกว่า Grand Prix Motorcycle Racing หรือเรียกสั้นๆ ว่า โมโตจีพี 

Grand Prix Motorcycle Racing ในปัจจุบันนั้นมีรุ่นรถที่ร่วมเข้าแข่งขันด้วยกันทั้งหมด 3 รุ่น ดังนี้

Moto3 : รุ่นเล็กสุดของการแข่งขัน ใช้มอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์ 4 จังหวะ ขนาด 250 ซีซี 1 สูบ แรงม้าไม่เกิน 55 แรงม้า รายการนี้เป็นรายการสำหรับผู้เริ่มต้น โดยนักแข่งที่เข้าร่วมต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 16 ปี แต่ไม่เกิน 28 ปี และสำหรับผู้ที่เข้ามาแข่งครั้งแรกอายุต้องไม่เกิน 25 ปี ซึ่งทีมต่างๆ จะเช่ารถที่ผู้ผลิตค่ายต่างๆ สร้างไว้มาทำการแข่งขัน โดยปัจจุบันมีรถจากค่าย Honda, KTM และ Husqvarna (ใช้รถที่สร้างโดย KTM บริษัทแม่ แต่ทำการตลาดแยกแบรนด์กัน)

Moto2 : เป็นการแข่งขันรุ่นกลาง โดยกฎสำคัญของรุ่นนี้ที่แตกต่างจากรุ่นอื่นคือ รถทุกคันจะต้องใช้เครื่องยนต์เหมือนกัน ซึ่งปัจจุบันใช้เครื่องยนต์ 4 จังหวะ 3 สูบ 765 ซีซี จากค่าย Triumph แรงม้าไม่เกิน 140 แรงม้า (ในอดีตใช้เครื่องยนต์ Honda 4 สูบ 600 ซีซี) แต่อนุญาตให้โมดิฟายแชสซี (โครงรถ) ได้ไม่จำกัด ทำให้แต่ละทีมก็จะไปเช่าแชสซีของผู้ผลิตที่สร้างเพื่อรุ่นนี้โดยเฉพาะ โดยปัจจุบันมีค่าย Kalex, MV Agusta, NTS และ Speed Up ที่เป็นผู้ผลิตตัวรถให้

MotoGP : ความหมายที่สองของคำว่าโมโตจีพี เป็นรุ่นการแข่งขันสุดโหดและใหญ่ที่สุด ที่มีนักแข่งระดับปีศาจมากมายอยู่ในรุ่นนี้ ใช้มอเตอร์ไซค์เครื่องยนต์ 4 จังหวะ ขนาด 1,000 ซีซี 4 สูบ ซึ่งจะเป็นแบบแถวเรียง (Inline) หรือสูบวี ก็ได้ แรงม้าจะอยู่ที่ 260 แรงม้า

This image is not belong to us

ปัจจุบันการแข่งขันโมโตจีพีนั้นจะแบ่งเป็นฤดูกาลตามปีปฏิทิน แต่ละสนามจะมีคะแนนสะสมเฉพาะ 15 อันดับแรกที่เข้าเส้นชัย แชมป์ได้ 25 คะแนน ลดหลั่นกันไปจนถึงอันดับ 15 ได้ 1 คะแนน โดยนักแข่งต้องทำคะแนนสะสมจากการแข่งขันทุกสนามในฤดูกาลรวมกันให้มากที่สุด เพื่อที่จะกลายเป็นผู้ชนะหรือแชมป์ในฤดูกาลนั้นๆ นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันในประเภททีม (แต่ละทีมจะส่งรถแข่งได้ไม่เกิน 2 คัน นับคะแนนเฉพาะคนที่จบ 15 อันดับแรกเช่นเดียวกับนักแข่ง) และประเภทผู้ผลิต (นับคะแนนเฉพาะรถแข่งคันแรกจากค่ายต่างๆ ที่ทำผลงานดีสุด อิงจาก 15 อันดับแรกของแต่ละสนามเช่นกัน) อีกด้วย

เอาล่ะ ขอจบบทเรียน MotoGP 101 ไว้เพียงเท่านี้ สำหรับมือใหม่ในวงการมอเตอร์สปอร์ตคงพอเห็นภาพแล้วว่าโมโตจีพีคืออะไร แต่สาระสำคัญของเราในครั้งนี้ไม่ได้มาเล่าถึงการแข่งขัน แต่ตัวรถมอเตอร์ไซค์รุ่นโมโตจีพีต่างหากล่ะคือสาระสำคัญ

โมโตจีพีคันละเท่าไร?

สำหรับมอเตอร์ไซค์ที่ใช้สำหรับการแข่งขันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก และสามารถทำความเร็วได้มากกว่ามอเตอร์ไซค์ทั่วไปที่เห็นตามท้องถนนได้ถึง 3-4 เท่าตัว แน่นอนว่าราคาของมันต้องแพงระยับอย่างไม่ต้องสงสัย 

This image is not belong to us

“ด้วยความปราณีตที่ต้องใช้งานฝีมือระดับสูงในการทำ และอาจมีเพียงคันเดียวในโลก นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีสูงที่สุดในเท่าที่อุตสาหกรรมมอเตอร์ไซค์จะมีในขณะนั้น ดังนั้นรถโมโตจีพีแต่ละคันจึงมีราคาสูง” โทมัส จูเลี่ยน โฆษกประสานงานของ Ducati Motor กล่าวกับ USA Today

แล้วราคาสูงที่ว่ามันเท่าไรกันล่ะ? คำตอบคือประมาณคันละ 2-3 ล้านยูโร (ประมาณ 80-120 ล้านบาท) โดยจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ โมโตจีพีของทีมอิสระ หรือ แซทเทิลไลท์ (Satellite) และโมโตจีพีของทีมโรงงาน

โดยทีมแซทเทิลไลท์นั้นพวกเขาจะไม่มีรถเป็นของตัวเอง แต่จะใช้วิธีการเช่ารถมาจากค่ายผู้ผลิตต่างๆ โดยค่าเช่าเพื่อใช้ในการแข่งขัน 1 ฤดูกาลนั้นจะอยู่ที่ประมาณคันละ 2 ล้านยูโร ซึ่งโดยปกติ ทีมแซทเทิลไลท์จะได้รถปีเก่าจากทีมโรงงานมาใช้แต่ง แต่หากนักแข่งในทีมทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่อง ค่ายผู้ผลิต ก็จะส่งรถปีปัจจุบันที่ทีมโรงงานใช้มาให้นักแข่งคนนั้นขี่ หรืออาจะมีการดีลกับทีมโรงงานเป็นกรณีไป

ส่วนทีมโรงงาน อธิบายให้เข้าใจโดยง่ายคือทีมการแข่งขันที่จัดตั้งขึ้นโดยแบรนด์รถต่างๆ ที่มีกำลังผลิตเป็นของตัวเองอยู่แล้ว โดยปัจจุบันมี 6 ค่าย ประกอบด้วย Ducati, Honda, Yamaha, Suzuki, KTM และ Aprilia ที่ผลิตรถของตัวเองขึ้นมาเพื่อใช้ในการแข่งขัน ซึ่งงบประมาณในการผลิตโมโตจีพีหนึ่งคันนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านยูโร โดยแบ่งออกเป็นส่วนๆ ดังนี้

This image is not belong to us

เครื่องยนต์ : เครื่องยนต์ที่ใช้ในการเป็นตัวสร้างความเร็วให้กับโมโตจีพีนั้นเป็นเครื่องยนต์ระดับท็อปที่สุดเท่าที่เทคโนโลยีการผลิตในขณะนั้นจะมี และเพื่อให้ทรงพลัง ทำความเร็วได้เกิน 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ผู้ผลิตนั้นต้องทุ่มงบกว่า 200,000-250,000 ยูโร (ประมาณ 8-10 ล้านบาท) เลยทีเดียว

การประกอบและปรับแต่ง : ถ้าเปรียบโมโตจีพีเป็นเหมือนเพชร ขั้นตอนการประกอบหรือ Built Up ก็เปรียบเสมือนการเจียระไน ซึ่งขั้นตอนนี้คือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ ต้องใช้ทั้งทรัพยากรเงินและคนเป็นจำนวนมาก ดังนั้นงบประมาณในส่วนนี้จึงอยู่ที่ 300,000-3,000,000 ยูโร (ประมาณ 12-120 ล้านบาท) แตกต่างกันไปตามกำลังทรัพย์ของแต่ละโรงงาน

วัสดุเพิ่มเติม : ไทเทเนียม, แมกนีเซียม, และคาร์บอนไฟเบอร์ คืออีกหนึ่งวัสดุหลักในการใช้ผลิตรถโมโตจีพีแต่ละคัน โดยวัสดุพวกนี้มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2 ยูโร/100 กรัม 

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ : หากเครื่องยนต์คือหัวใจ ระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็เปรียบได้กับสมอง ที่ควบคุมระบบต่างๆ ในรถแข่งโมโตจีพีทั้งหมด ประกอบด้วย เซ็นเซอร์, สายเคเบิล รวมถึงแผงติดตั้งวงจร โดยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้มีราคาอยู่ที่ประมาณ 100,000 ยูโร (ประมาณ 4 ล้านบาท) โดยปัจจุบัน ฝ่ายจัดการแข่งขันได้บังคับให้รถทุกคันในรุ่นโมโตจีพี ต้องใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์กลาง (แม้จะมีบางส่วนที่อนุญาตให้ผลิตเองได้) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยให้การแข่งขันสูสีมากขึ้น รถทีมแซทเทิลไลท์สามารถชนะรถทีมโรงงานได้

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา ที่ไม่สามารถคำนวนออกมาเป็นตัวเงินได้อีกด้วย

“โมโตจีพีที่ใช้ในการแข่งขันนั้นประเมินค่าไม่ได้เลยล่ะ” บ็อบ สตาร์ (Bob Starr) โฆษกประสานงานของ Yamaha กล่าว

This image is not belong to us

โดยปกติแล้วรถที่ใช้ในการแข่งขันโมโตจีพีจะไม่มีการนำมาวางจำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ตาม ทาง Honda เคยผลิต RC213V-S รถที่สืบเชื้อสายมาจาก RC213V ซึ่ง มาร์ค มาร์เกซ (Marc Márquez) ใช้คว้าแชมป์โลกโมโตจีพีมาตลอดหลายปีหลังสุด ออกมาวางจำหน่ายให้คนทั่วไปสามารถซื้อได้ โดยราคาที่บริษัท Honda นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยนั้นอยู่ที่ 8,700,000 บาท 

สาเหตุที่ราคามันต่ำกว่าที่กล่าวไปด้านบนมากหลายเท่าตัว เนื่องจากนี่เป็นการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ไม่ใช่งานฝีมือที่ค่อยๆ ปราณีตผลิตขึ้นมาหนึ่งคันเพื่อใช้เข้าร่วมการแข่งขัน และการที่ผลิตในจำนวนมากก็สามารถลดต้นทุนในการผลิตไปได้พอสมควร 

นอกจากนี้ ยังมีอีกเหตุผลสำคัญ เพราะถึงแม้ชื่อรถแข่งเวอร์ชั่นลงสนามกับบนถนนจะแทบเหมือนกัน (มีแค่ S ต่อท้าย) และมีบางชิ้นส่วนที่หยิบมาจากรถแข่งจริงๆ ถึงกระนั้น รายละเอียดของชิ้นส่วนต่างๆ รวมถึงการปรับจูนของ RC213V-S ก็ต่างจาก RC213V อย่างสิ้นเชิง เพื่อให้นักขับที่อาจจะไม่ได้มีประสบการณ์เท่านักแข่งอาชีพสามารถขี่บนถนนได้นั่นเอง

ล้มครั้งหนึ่งซ่อมเท่าไร?

มาถึงคำถามสำคัญของบทความนี้แล้ว ซึ่งบอกไว้ก่อนเลยว่าการล้มแต่ละครั้งในการแข่งขันโมโตจีพีนั้นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะผลลัพธ์ที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายมหาศาลในการซ่อมแซม

This image is not belong to us

ในกรณีความเสียหายเล็กน้อย ที่เกิดขึ้นในบริเวณแผ่นปิดดิสก์เบรก, ที่พักเท้า, คันบิด, เบรกหลัง, หรือองค์ประกอบเล็กน้อยอื่นๆ ที่เรียกว่า “Soft Impact” ซึ่งเกิดจากการล้มที่ไม่รุนแรงมาก นักแข่งสามารถคว้ารถขึ้นมาแข่งขันต่อไปได้ ต้องใช้งบในการซ่อมแซมอยู่ที่ประมาณ 15,000-20,000 ยูโร (ประมาณ 6-8 แสนบาท)

การล้มที่รุนแรงขึ้น โดยความเสียหายเกิดขึ้นที่บริเวณยาง, ดิสก์เบรก, ระบบช่วงล่าง, หม้อน้ำหรือระบบเซ็นเซอร์ภายนอก จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่ประมาณ 100,000 ยูโร (ประมาณ 4 ล้านบาท)

ในการล้มกรณีร้ายแรงที่สุด ทำให้รถเกิดความเสียหายที่บริเวณ สวิงอาร์ม, ตัวถัง, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายใน, ถังน้ำมัน อาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมสูงสุดถึง 500,000 ยูโร (20 ล้านบาท) เลยทีเดียว

This image is not belong to us

แต่ถึงแม้ค่าซ่อมจะแพงระยับแค่ไหน การจะให้บรรดานักแข่งมาขี่แบบ “ปลอดภัยไว้ก่อน” ก็คงจะไม่ใช่เรื่อง เพราะโมโตจีพีคือสังเวียนประลองความเร็วเพื่อหาผู้ชนะ ดังนั้นถึงแม้การขับขี่ด้วยความเร็ว 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจจะเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุที่นำมาสู่ค่าใช้จ่ายมหาศาล 

แต่ถ้าผลสุดท้ายสิ่งที่ได้รับคือชัยชนะ มันก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยงเสมอ …