นายมารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2565 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 52.15ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.9% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิเท่ากับ 29.47 ล้านบาท ขณะที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 469.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.1% จากงวดเดียวกันปีก่อนที่มีรายได้รวมเท่ากับ 337.2 ล้านบาท
โดยปัจจัยสนับสนุนให้กำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการรับรู้รายได้จากงานส่วนเพิ่มของโครงการวางระบบคมนาคมขนส่งของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่ลดลง
“ภาพรวมผลการดำเนินงานในงวดไตรมาส 1/2565 เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งยังสามารถรักษาการทำกำไรไว้ได้ในระดับที่ดี และมีการควบคุมต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นได้ ขณะที่แนวโน้มธุรกิจในไตรมาส 2/2565 บริษัทฯ คาดหวังว่าจะยังคงอยู่ในทิศทางที่ดีอย่างต่อเนื่อง” นายมารุตกล่าว
ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ปรับผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับกระแสธุรกิจในปัจจุบันยิ่งขึ้น ซึ่งแบ่งเป็น 4 ประเภทได้แก่ 1. งานให้บริการวางระบบแบบครบวงจร (System Integration) 2. งานให้บริการดูแลรักษาและซ่อมบำรุง (Maintenance Services) และให้บริการพร้อมซ่อมบำรุงและดูแลรักษาแบบเบ็ดเสร็จ (Operation and Maintenance) 3. การจำหน่ายระบบและให้บริการแบบแบ่งรายได้ ด้านพลังงานหมุนเวียน และ 4. การจำหน่ายระบบและให้บริการพร้อมซ่อมบำรุงแบบสัญญาระยะยาวด้านระบบอัจฉริยะสำหรับเมือง นิคมอุตสาหกรรมและอาคาร ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเทคโนโลยีคู่เสมือนดิจิทัล (Digital Twin) และเทคโนโลยีบล็อกเชน (Block Chain) มาประยุกต์ใช้งาน เพื่อเป็นผู้นำด้านงาน System Integration ที่สมบูรณ์แบบและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งยิ่งขึ้น
สำหรับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจในปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเติบโตระดับ 40% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (backlog) ที่มีอยู่แล้วกว่า 2,064 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะมีงานโครงการใหม่ที่เปิดให้ประมูลมากขึ้น รวมทั้งบริษัทฯ จะมีการทยอยรับรู้รายได้จากธุรกิจที่มีรายได้ประจำ และรายได้ในส่วนธุรกิจใหม่เกี่ยวกับพลังงานมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ พร้อมเปิดให้บริการแก่รถรับจ้างสาธารณะในพื้นที่อำเภอบางกรวย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีศึกษารถรับจ้างสาธารณะในพื้นที่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่งได้ทำร่วมกับ มจพ. ภายใต้โครงการวิจัยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบริษัทฯ ยังมีความมั่นใจพร้อมที่จะนำไปต่อยอดสู่การพัฒนา “มาชาร์จ แพลตฟอร์ม” ในรูปแบบการใช้งานที่สามารถนำไปให้บริการในเชิงพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจที่มีความสนใจ และมีการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการเติบโตได้อย่างมั่นคงของบริษัทฯ ต่อไป