นายมารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเอ็มอาร์ เอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ AMR เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างงาน กับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ในโครงการพัฒนาสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ 3 สถานี จำนวน 9 ตู้
โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยการใช้จักรยานยนต์ไฟฟ้า กรณีศึกษารถรับจ้างสาธารณะในพื้นที่ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ซึ่ง มจพ. ได้รับโครงการวิจัยนี้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาเทคโนโลยีและการอัดประจุไฟฟ้าให้กับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผู้ขับขี่ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างบริเวณพื้นที่บางกรวย เพื่อทดสอบการให้บริการอัดประจุไฟฟ้าโดยผ่านสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่เพื่อลดระยะเวลาการรออัดประจุ
ทั้งนี้ ในโครงการวิจัย มีผู้ให้บริการจักรยานยนต์รับจ้างสาธารณะในพื้นที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 51 คน และเปลี่ยนจากรถจักรยานยนต์เครื่องยนต์สันดาบเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าให้บริการแทน และมีสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ให้บริการจำนวน 9 ตู้ ติดตั้งกระจาย 3 จุด ในพื้นที่ดังกล่าว
“การรับงานโครงการในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการใน 3 สถานีแรก มีจำนวน 9 ตู้ และคาดว่าจะมีโอกาสได้รับงานในโครงการต่อไป ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายที่จะได้รับงานในอนาคต อีกจำนวนกว่า 1,000 ตู้ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้มีรายได้มากขึ้น เพิ่มสัดส่วนของรายได้ประจำ (Recurring income) นอกจากนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้าในการพัฒนา มาชาร์จ แพลตฟอร์ม ในรูปแบบการใช้งานที่สามารถนำไปให้บริการในเชิงพาณิชย์แก่ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน หรือรัฐวิสาหกิจที่มีความสนใจ และมีการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการแก่ลูกค้า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการเติบโตได้อย่างมั่นคงของบริษัทฯ ต่อไป” นายมารุต กล่าว
ทั้งนี้จากการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องของภาครัฐในส่วนของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ทำให้บริษัทฯ มีโอกาสในการพัฒนาแพลตฟอร์มของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า “มาชาร์จ แพลตฟอร์ม” เพื่อสามารถให้บริการกับผู้ประกอบการ และผู้บริหารเมืองที่สนใจนำแพลตฟอร์มไปให้บริการกับประชาชนในท้องถิ่น โดยรูปแบบของแพลตฟอร์มมีองค์ประกอบคือ สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (สถานีฯ) ซึ่งสถานีฯ ถูกออกแบบเพื่อให้ใช้งานง่ายและเป็นระบบกึ่งอัตโนมัติ พร้อมกับระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ซึ่ง AMR ได้ดำเนินการพัฒนาสถานีฯ ดังกล่าว พร้อมให้บริการประมาณเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้บริการแก่วินมอเตอร์ไซด์ในพื้นที่บางกรวย จำนวน 9 ตู้ โดยติดตั้งกระจาย 3 จุดในพื้นที่บางกรวย ได้แก่ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จำนวน 5 ตู้ วัดชลอ จำนวน 2 ตู้ และร้านนายสะอาดซักด่วน จำนวน 2 ตู้
สำหรับ “มาชาร์จ แพลตฟอร์ม” จะมี Web Application ในการบริหารจัดการจากส่วนกลาง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ และสถานีฯ อีกทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่จัดเก็บทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อให้สามารถบริหารจัดการทรัพยากรต่าง ๆ ในโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมีประโยชน์สูงสุดต่อทั้งผู้ใช้งานและผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ ทีม R&D ยังได้พัฒนาโปรแกรมประยุกต์สำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ (Mobile Application) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ (Rider) สำหรับการใช้งานสถานีฯ ในโครงการ ด้วยฟังก์ชั่นการค้นหาเส้นทางไปสถานีฯ ตรวจสอบปริมาณไฟฟ้าในแบตเตอรี่แต่ละก้อนของแต่ละสถานีฯ และสามารถจองแบตเตอรี่ล่วงหน้าก่อนไปถึงสถานีฯ ได้ ตลอดจนสามารถแจ้งปัญหาที่เกิดจากการใช้งานสถานีฯ ผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย
ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกเมื่อเกิดปัญหากับการใช้งาน ผู้ใช้งานและผู้ประกอบการสามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้า (Call Center) ซึ่งมีระบบบริหารจัดการการรับเรื่องร้องเรียนและแจ้งซ่อมเพื่อเข้าช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถดูภาพรวมและบันทึกย้อนหลังของงานบริการได้อีกด้วย
ขณะเดียวกัน ยังมีการให้บริการหลังการขาย (Customer Service) ให้บริการโดยทีมงานที่เชี่ยวชาญในการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน ซึ่งจะเข้าตรวจสอบตามรอบการบำรุงรักษา เพื่อให้สามารถใช้งานสถานีฯ ได้อย่างต่อเนื่อง และการบำรุงรักษาเชิงแก้ไขที่สามารถเข้าช่วยเหลือและแก้ปัญหาการใช้งานที่เกี่ยวกับสถานีฯ ได้อย่างทันท่วงที
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีนโยบายที่จะรุกขยายการลงทุนไปในธุรกิจด้านการให้บริการพร้อมซ่อมบำรุงและดูแลรักษาแบบเบ็ดเสร็จ และร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ระบบสาธารณูปโภค และระบบอัจฉริยะเพื่อการบริหารจัดการเมือง โรงงานอุตสาหกรรมและอาคารขนาดใหญ่ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) สนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างต่อเนื่อง