ในลิ้นชักความทรงจำ /ยูร กมลเสรีรัตน์
“เรายังเป็นนักเขียนใหม่ กลัวเขาไม่เอา ก็มาคิดดู พิมพ์เองดีกว่า ตั้งชื่อสำนักพิมพ์หนอน พิมพ์ ‘ทางออกที่ถูกปิด’ พิมพ์สามพันเล่ม ภายในไม่กี่เดือนขายหมด คุณไพบูลย์ สุขสุเมฆ ช่วยเชียร์ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เลยพิมพ์เพิ่มอีกสอง พันเล่มเป็นหั้นเล่ม ขายหมด” ไมตรี ลิมปิชาติเล่าถึงความถึงให้ฟัง
รวมเรื่องสั้น “ทางออกที่ถูกปิด” เป็นเรื่องสั้นชุด ข้าราชการ เขียนจากประสบการณ์ครั้งที่เขาทำงานเทศบาลที่ปากน้ำ ซึ่งอยู่ใกล้กับสโมสรข้าราชการ จึงได้ไปคลุกคลีกับข้าราชการที่ไปดื่มกินที่สโมสรฯ เป็นประจำ ตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ซึ่งเป็นหนังสือแนวการเมืองรายสัปดาห์เพียงฉบับในสมัยนั้น
พอหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดนี้ขายได้ ไมตรี ลิมปิชาติ ก็เกิดความฮึกเหิมตามธรรมดาของนักเขียนใหม่วัยหนุ่มน้อย เขาเกิดความคิดขึ้นมาว่า ขนาดเขาเป็นนักเขียนใหม่ หนังสือยังขายได้ ถ้าเอาเรื่องของคนอื่นมาพิมพ์ น่าจะขายได้
ผลงานเล่มแรกของนักเขียนคลื่นลูกเดียวกันหลายคนที่สำนักพิมพ์หนอนของไมตรี ลิมปิชาติเป็นผู้พิมพ์ ซึ่งถือว่าเป็นประวัติศาสตร์คือ เรื่องสั้นชุด บันทึกของคนแซ่ปึงของกรณ์ ไกรลาศ จดหมายถึงเมา ของมกุฏ อรฤดี(นิพพานฯ) เป็นอาทิ ขออภัย นักเขียนคนอื่น ๆ จำไม่ได้ ล้วนเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงทั้งนั้น
ช่วงนั้นไมตรี ลิมปิชาติ ทรหดมาก ไหนจะทำงานที่การประปา ไหนจะเขียนหนังสือ แล้วยังทำสำนักพิมพ์ด้วย เขาให้ปกรณ์ พงศ์วราภา หรือ “กรณ์ ไกรลาศ”(ประธานบริษัทจี.เอ็ม.กรุ๊ป) เหมาทำเล่มละ 500 บาท ก่อนจะส่งโรงพิมพ์
“กรณ์ต้องขับมอเตอร์ไซค์จากกรุงเทพฯไปหาผมที่ปากน้ำ รับงานไปทำ พอพิมพ์พ็อกเก็ตบุ้คออกมา ผมเอาไปวางแผงด้วยตัวเองทั้งกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ได้ฝากขายกับสายส่ง จะได้ประหยัด แถมเก็บเงินเองด้วย ช่วงนั้นเหนื่อยมาก แต่ก็สนุก”
ด้วยพลังอันเปี่ยมล้นในวัยหนุ่ม เขาจึงลุยได้อย่างเต็มที่ ไม่มีคำว่าท้อถอย แล้วเขาก็เล่ามุขขำให้ฟังประสาคนอารมณ์ดีว่า “ผมเอาหนังสือ‘ทางออกที่ถูกปิด’ขึ้นท้ายรถ เห็นร้านหนังสือที่ไหน ก็หิ้วไปส่งให้เขา ตอนนั้นขายที่ปากน้ำ มีอยู่เจ้าหนึ่งเป็นแผงเล็ก ๆ ผมเอาไปวางไว้สิบเล่ม แล้วไปเช็คดู เหลือเล่ม เดียว ผมดีใจมาก เขาว่า ‘อั๊วไม่ได้ขายนะ มันหายแน่ ๆ’ พอพูดยังงี้ ยิ้มไม่ออกเลย”
ไมตรี ลิมปิชาติยอมรับว่าตนเองใจใหญ่เกินไป พอได้ต้นฉบับ จ่ายเงินให้ทันที ที่ใจใหญ่ เพราะเป็นเพื่อนฝูงทั้งนั้น สุดท้ายเลยไปไม่รอด แล้วเขาย้อนเล่าต่อว่า ช่วงที่ทำสำนักพิมพ์หนอน กำลังไฟแรง เพราะยังหนุ่มแน่น จึงลงทุนทำนิตยสารของตัวเอง…
“ผมมีเงินอยู่ก้อนหนึ่ง ก็เลยออกนิตยสารรายเดือนชื่อหนอนยิ้ม ปรากฏว่าขายได้ ขนาดที่ว่าทำให้พี่ต่วย(วาทิน ปิ่นเฉลียว เจ้าของต่วย’ ตูน-ล่วงลับแล้ว) โกรธที่แข่งกับแก”
ถ้าผมจำไม่ผิด นิตยสารหนอนยิ้ม รูปเล่มขนาด 8 หน้ายก ชื่อก็บอกในตัวว่าเป็นนิตยสารให้ความหรรษา คล้าย ๆ ต่วย’ ตูน แต่ไม่เหมือนแน่นอน บุคลิกของไมตรี ลิมปิชาติเป็นคนมีอารมณ์ขันเฉพาะตัวอย่างไร หนอนยิ้มก็มีสไตล์เฉพาะตัวเหมือนเจ้าของนั่นแหละ
ยุคนั้นมีนิตยสารแนวนี้ออกมาแข่งกับต่วย’ตูน กี่หัว จำไม่ได้แล้ว แต่จำชื่อนิตยสารได้เล่มเดียวคือ เมืองยิ้ม ในเครือสำนักพิมพ์บงกช ที่ออกนิตยสารบงกช จนเฟื่องฟูยุคหนึ่ง เพราะบรรณาธิการเป็นนักเขียนที่ครองใจวัยหนุ่มสาวยุคนั้นที่ชื่อ ศุภักษร บุคลิกของเมืองยิ้ม สไตล์เหมือนต่วย’ตูน ซ้ำรูปเล่มพ็อกเก็ตบุ้ค 16 หน้ายกเหมือนกัน ในที่สุดก็ไปไม่รอด ต้องโละลงตลาดล่าง
ถึงแม้ว่านิตยสารหนอนยิ้มจะขายได้ แต่เมื่อมาคิดเรื่องค่าใช้จ่ายแล้ว แม้จะไม่ขาดทุน แต่ก็ไม่คุ้มเหนื่อย อีกอย่างเป็นเพราะหนังสือออกผิดเวลาด้วย แต่เขาถือว่าทำเพื่อความมันในชีวิต จึงขายหนอนยิ้มให้บริษัทสยามสปอร์ตของระวิ โหลทอง แห่งหนังสือ เจ้าแห่งหนังสือกีฬาคือ สยามกีฬาและสตาร์ซอคเก้อร์ แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน
ไมตรี ลิมปิชาติมีความสามารถในการเขียนที่หลากหลาย ทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทความ สารคดี เรื่องสำหรับเด็กและหนังสือประกอบภาพสำหรับเด็ก สำหรับเรื่องสั้นของเขาจะเป็นเรื่องสั้นแบบหักมุมที่นิยมในยุคเก่าก่อน ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องสั้นของตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องสั้นของกีย์ เดอร์ โมปัสซังต์ ราชาเรื่องสั้นหักมุม
เรื่องสั้นประเภทนี้ เขียนไม่ง่ายเลย ต้องมีฝีมือพอสมควร อย่างเรื่องสั้นในชุด คนอยู่วัด บางเรื่องจบหักมุม จนปล่อยก๊ากออกมา ส่วนเรื่องในชุดอื่น ๆ เช่น ชุด ประปา เกาไม่ถูกที่คัน ช่องว่างระหว่างฟัน ฯลฯ ก็สร้างรอยยิ้มกับผู้อ่าน อีกทั้งแฝงสาระด้วย แต่ไม่ใช่ว่าไมตรี ลิมปิชาติเขียนแต่เรื่องแนวหรรษาเท่านั้น เรื่องสั้นที่ให้สาระ เขาก็สร้างผลงานไว้ในเรื่องสั้นหลายเรื่องเช่น รวมเรื่องสั้นชุด บุรุษผู้เอาหัวชนกำแพง เป็นต้น
ยุคนักเขียนเพื่อชีวิตเมื่อหลายสิบปีก่อน บางคนก็เคยพูดเสียดสีเขาว่าเขียนแต่เรื่องแนวหรรษาบ้าง ไม่สร้างสรรค์บ้าง ไมตรี ลิมปิชาติก็เคยแสดงฝีมือในเรื่องสั้นที่ให้สาระดังที่กล่าว มาแล้ว แต่เขาชอบเขียนเรื่องแนวหรรษาและมีความถนัดเป็นพิเศษ เขาจึงยืนหยัดเขียนแนวนี้มาตลอด ไม่ฝืนปากกา จนกระทั่งผลงานแนวหรรษาได้แสดงให้เห็นถึงตัวตนของเขาอย่างชัดเจน ซึ่ง เปรียบเสมือน “แบรนด์”ของเขา ดังที่เขาฝากข้อคิดว่า…
“เขียนในสิ่งที่ตัวเองรู้ เขียนตามนิสัยของตัวเอง เป็นคนโรแมนติค ก็ต้องเขียนเรื่องโรแมนติค เป็นคนมีอารมณ์ขัน ก็ต้องเขียนเรื่องที่มีอารมณ์ขัน”
นวนิยายของเขาเป็นที่รู้จักของแฟนหนังสือเป็นอย่างดีว่า ถ้ายี่ห้อไมตรี ลิมปิชาติต้องเป็น แนวหรรษาได้แก่ ด็อกเตอร์ครก(รางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2531) ถึงคราวจะเฮง ยอดคุณลูก รักโต้คลื่น นิสิตสุราปี 4 ฯลฯ และนวนิยายที่เสมือนตำนานเป็นที่จดจำเช่นเดียวกับเรื่องสั้นชุด คนอยู่วัด ก็คือ ความรักของคุณฉุย ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารวัยหวาน นิตยสารที่เป็นตำนานของหนังสือของวัยรุ่นเมื่อกว่า 40 ปีก่อน ปรากฏว่ามีจดหมายเขียนมาชมมากมายและบอกว่าให้เขียนต่อ จะได้อ่านจุใจ
นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายครั้ง โด่งดังมาก ด้วยไฟในการเขียนที่ยังพร่างโพลง อีกไม่กี่ปีต่อมา ไมตรี ลิมปิชาติจึงบรรเลง “ความรักของคุณฉุย 2” ลงในนิตยสารสตรีสาร ได้รับการต้อนรับจากแฟนสตรีสารอย่างอบอุ่น
ดังที่กล่าวมาแล้วว่าไมตรี ลิมปิชาติไม่ได้เขียนแต่แนวหรรษาแนวเดียว แม้กระทั่งนวนิยาย ก็ไม่ใช่มีแต่นวนิยายหรรษา เขามีผลงานนวนิยายที่ให้สาระด้วย เช่น กว่าจะเป็นแชมป์ ยอดหญิงนักตบ เป็นการนำประสบการณ์จากการ เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลมาผูกเป็นนวนิยาย นวนิยายให้สาระเรื่องอื่น ๆ ได้แก่ หัวใจไม่มีแรง ครั้งเดียวพอ นวนิยายเรื่องหลังนี้เขานำประสบการณ์จากการ เป็นนักกีฬาบาสเกตบอลเยาวชน ซึ่เป็นทีมมหาวิทยาลัยรุ่นแรกไปแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น จำได้ว่าเขียนลงในนิตยสารการะเกด รายเดือนของสุจิตต์ วงษ์เทศ ฯลฯ
ด้วยความที่ไมตรี ลิมปิชาติเป็นคนอารมณ์ดีและมองโลกในแง่ขัน อันเป็นบุคลิกของเขา แม้กระทั่งงานเขียนประเภทงานเขียนสารคดีที่เขาเขียน ไม่เพียงแต่ให้สาระและความเพลิดเพลินเท่านั้น ยังให้อารมณ์ขันระหว่างบรรทัด ซึ่งเป็นสไตล์เฉพาะตัวที่แสดงให้เห็นในงานเขียนทุกประเภท ได้แก่สารคดีเรื่อง เที่ยวกับเมีย(สารคดีเล่มแรกที่ได้รับรางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี 2520)
ไปเยี่ยมอาม่าเมืองจีน(รางวัลชมเชยจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติปี2526) เบิ่งลาว 14 วัน 5,000 กิโลเมตร ยกครอบครัวท่องเมืองกีวี เที่ยวกับเพื่อน สู่ถิ่นพันเกาะ เป็นอาทิ บทความที่เขาเขียน นอกจากบทความหรรษา ซึ่งเขานำมาพิมพ์รวมเล่นในชุด เย็นลมร้อน ยิ้มชามใหญ่ โจ๊กไข่ใส่หมู ฯลฯ น้อยคนจะรู้ว่าเขาเคยเขียนบทความการเมืองอยู่ช่วงหนึ่ง ใช้นามปากกาว่า “ป้อม ปีกกา”
“นามปากกา ป้อม ปีกกา มีพิเศษอย่างหนึ่งก็คือ ไปเขียนให้ฉบับไหนเป็นเจ๊ง” ไมตรี ลิมปิชาติหยอดมุขขำระคนหัวเราะเบาๆ ประสาคนอารมณ์ดี ทำให้ผมพลอยหัวเราะด้วย
(อ่านต่อตอนหน้า)