แบงก์ปรับกลยุทธ์ธุรกิจปี’64 แข่ง “บริหารพอร์ตเศรษฐี” ปั๊มรายได้ค่าฟี

ไทยพาณิชย์

แบงก์ปรับกลยุทธ์ธุรกิจปี’64 มุ่งสร้างรายได้จากการบริหารความมั่งคั่ง “ไทยพาณิชย์” เบนเข็มปั้นรายได้ค่าฟีจากธุรกิจ “เวลท์-ขายประกันผ่านแบงก์” พร้อมปรับองค์กรเข้าสู่ดิจิทัลเต็มสูบ เน้นสินเชื่อเติบโตปานกลาง 3-5% ประคองคุณภาพ-คุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 4.5% “ซีไอเอ็มบี ไทย” ลั่นเน้นแข่งขันในธุรกิจเวลท์เต็มที่ ปรับบริการลูกค้าผ่านดิจิทัล ฟาก “ทิสโก้” ชูจุดแข็งธุรกิจ “เวลท์-ที่ปรึกษาการลงทุน-ประกัน-ธนบดี” มองภาวะตลาดทุนเอื้อสร้างการเติบโต

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยในการแจ้งงบฯไตรมาส 4 ปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ในปี 2564 นี้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง ธนาคารจะยังคงมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ และปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และขยายฐานรายได้จากธุรกิจการขายประกันผ่านธนาคาร (bancassurance) และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (wealth management) และการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ

(ซ้าย) อาทิตย์ นันทวิทยา - สุทัศน์ เรืองมานะมงคล(ขวา)
(ซ้าย) อาทิตย์ นันทวิทยา – สุทัศน์ เรืองมานะมงคล (ขวา)

ทั้งนี้ ธนาคารมุ่งเน้นเติบโตรายได้ค่าธรรมเนียมจากแบงก์แอสชัวรันซ์และธุรกิจ wealth โดยมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ ตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตในระดับปานกลางที่ 3-5% ซึ่งส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จะยังคงได้รับแรงกดดันสูงอยู่ จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปี 2563 และกลยุทธ์ของธนาคารที่เน้นการเติบโตสินเชื่อเฉพาะกลุ่มและภาวะสภาพคล่องส่วนเกิน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ดังนั้น คาดว่า NIM จะอยู่ที่ 3.0-3.2%

สำหรับด้านการบริหารต้นทุน ธนาคารกำหนดเป้าหมายอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ให้ลดลงสู่ระดับกลางถึงล่างของ 40% ถึงแม้รายได้อยู่ภายใต้ความกดดัน อย่างไรก็ตาม การควบคุมค่าใช้จ่ายจะไม่กระทบค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนใหม่ ๆ และการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร

นายอาทิตย์กล่าวด้วยว่า ส่วนคุณภาพสินทรัพย์จะใช้แนวทางการบริหารจัดการและรับรู้สินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรอบคอบควบคู่การรักษามูลค่าสินทรัพย์ในระยะยาว โดยคาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) จะอยู่ที่ 4.0-4.5% (สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3.68%) และการตั้งสำรองจะยังคงอยู่ในระดับสูงแต่ไม่เกินกว่า 2% ตลอดปี 2564 เนื่องจากระดับการสำรองได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2563 และรักษาอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (coverage ratio) อย่างน้อยที่ 130% เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดและการสิ้นอายุของโครงการช่วยเหลือ

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวว่า ปีนี้ธุรกิจแบงก์คงมีอัตราการเติบโตสินเชื่อไม่มากนัก โดยสินเชื่อของซีไอเอ็มบี ไทย คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.5-4% สอดคล้องกับเงินฝากที่เติบโตในอัตราใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ การเติบโตด้านสินเชื่อจะยังคงมาจากสินเชื่อรายย่อยเป็นหลัก

อย่างไรก็ดี ธนาคารจะพยายามขยายฐานเงินฝากและรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย ผ่านธุรกิจ wealth ซึ่งเป็นธุรกิจที่ยังมีโอกาสขยายการเติบโตได้ และพยายามควบคุมเอ็นพีแอลให้อยู่ต่ำกว่า 5%

“ปีนี้เราเน้นการเติบโตธุรกิจ wealth เป็นหลัก โดยนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการลงทุนพันธบัตรและกองทุน ส่วนรายย่อยก็สามารถขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชั่นได้ ซึ่งตอนนี้มีลูกค้าที่ใช้ดิจิทัลแอ็กทีฟราว 30-40% จากฐานลูกค้า 3-4 แสนคน คาดหวังปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 70-80%

โดยความท้าทาย คือ กลัวคู่แข่งไล่ทัน เพราะเป็นปีที่เราจะเน้นในธุรกิจ wealth และการแข่งขันสูง ทั้งนี้ เราต้องทำให้ลูกค้าปรับพฤติกรรมมาใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น จากเดิมที่มักจะติดรูปแบบการใช้เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ หรือ RM เพราะหากใช้ดิจิทัลจะทำให้เราเติบโตได้เร็วขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีสาขามากมาย” นายสุธีร์กล่าว

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจในปี 2564 ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนและการระบาดโควิด-19 รอบใหม่ แต่ยังเชื่อมั่นว่าธนาคารยังสามารถเติบโตได้ โดยกลยุทธ์จะเน้นเติบโตในธุรกิจที่เติบโตดีอยู่แล้ว เช่น ที่ปรึกษาด้านการลงทุน (FA) ธุรกิจเวลท์ ธุรกิจประกันภัยและชีวิต และธุรกิจธนบดี

“ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในธุรกิจตลาดทุน จะเห็นว่าตลาดค่อนข้างเอื้อจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ต้นทุนต่ำ เศรษฐกิจทั่วโลกอยู่ระหว่างฟื้นตัว คาดว่าจะมีกระแสเงินทุนไหลกลับเข้ามา แม้ว่าการแข่งขันในตลาดจะค่อนข้างสูงแต่ธนาคารถือว่าทำได้ค่อนข้างดี โดยสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ในกลุ่ม private banking ปัจจุบันมีพอร์ตอยู่เกือบ 4 แสนล้านบาท ขณะที่เงินฝากมีอยู่ราว 2 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินฝากกลุ่มลูกค้า wealth” นายสุทัศน์กล่าว

ส่วนการปล่อยสินเชื่อ ธนาคารมุ่งเน้นการปล่อยกู้อย่างระมัดระวัง เน้นขยายสินเชื่อในกลุ่มเพื่อการบริโภค ธุรกิจขนาดใหญ่ และพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อรุกในกลุ่มสินเชื่อรถยนต์ จักรยานยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อขยายฐานลูกค้าใหม่ ส่วนเอ็นพีแอลคาดว่าจะอยู่ในระดับ 3-3.5%

“เราพยายามให้โควิดมีผลกระทบน้อยที่สุด และพยายามบริหารสินเชื่ออย่างระมัดระวัง โดยปีนี้น่าจะเติบโตบ้างแม้ไม่มากนัก แต่เราเชื่อว่าจุดเลวร้ายได้ผ่านไปแล้ว ซึ่งเรามีธุรกิจที่ดีก็ทำต่อ เช่น FA ธุรกิจประกัน และตลาดทุน ซึ่งถือเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของทิสโก้ เราก็ทำต่อไป” นายสุทัศน์กล่าว

ขณะที่ธนาคารกสิกรไทยแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯถึงเป้าหมายทางการเงินในปี 2564 โดยธนาคารได้กำหนดอัตราการเติบโตสินเชื่ออยู่ที่ 4-6% จากปีก่อนขยายตัว 12.13% สอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเน้นการเติบโตสินเชื่อลูกค้าบุคคลที่ 11-13% จากการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อ สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ตั้งเป้าเติบโต 2-4% และสินเชื่อบรรษัทธุรกิจ ตั้งเป้าเติบโต 1-3%

ขณะที่ NIM มีกรอบเป้าหมายอยู่ที่ 3.1-3.3% สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (net fee income growth) ตั้งเป้าเติบโตเล็กน้อยที่ตัวเลขหลักเดียว (low single digit) จากธุรกิจบัตรเครดิต ค่าธรรมเนียมรับจากการให้สินเชื่อ และธุรกิจจัดการกองทุน

ส่วนเอ็นพีแอลคาดว่าจะอยู่ที่ 4.0-4.5% ขยับขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 3.93% เนื่องจากโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อคุณภาพเงินให้สินเชื่อ และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองของธนาคาร (credit cost) คาดการณ์ไว้ที่ไม่เกิน 160 basis points ซึ่งยังอยู่ในระดับสูง ภายใต้สมมุติฐานเกี่ยวกับโควิด-19 รวมทั้งการที่ธนาคารยังคงใช้หลักความระมัดระวังและนโยบายทางการเงินที่รอบคอบในการพิจารณาสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น