หมายเหตุ : “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ ศ.วุฒิสาร ตันไชย” อดีตเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เพื่อวิเคราะห์เจาะลึกถึงสถานการณ์ การเมือง สังคม
-อยากให้อาจารย์มองภาพการเมืองปีนี้ 2566
ปี 2566 สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ เราจะมีการเลือกตั้ง ถ้านับตามวาระรัฐบาลก็เป็นช่วงเดือนมีนาคมก็จะหมดวาระของรัฐบาล ก็คือสภาฯ เพราะฉะนั้นการเมืองปีนี้ ผมคิดว่ามันเกิดในช่วงเวลานี้ มันเกิดปรากฏการณ์อยู่3-4 เรื่องที่มันจะส่งผลต่อการเลือกตั้งและการตัดสินใจทางการเมืองของประชาชน เรื่องแรกที่เกิดความชัดเจนมากขึ้นคือการที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ประกาศชัดเจน ว่าจะไปสังกัด จะเป็นแคนดิเดตให้กับพรรคใด ทำให้เกิดความชัดเจนในเชิงของจุดยืนของพรรคการเมือง
เมื่อประกาศแบบนี้เสร็จ อีกหลายพรรคการเมืองก็มีความชัดเจนว่า ใครจะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าจะทำให้ความคิด การต่อสู้ทางการเมือง ส่วนหนึ่งจะเป็นการต่อสู้แบบเกิดขั้วทางความคิด เกิดขั้วทางความรู้สึกของคน เช่น อาจจะรู้สึกว่า เอาประยุทธ์ ไม่เอาประยุทธ์ ขั้วนี้มันอาจจะเกิดขึ้นทันที หลังจาก ที่นายกฯประกาศความชัดเจนเรื่องว่าจะอยู่ต่อ แม้ว่าจะอยู่อีก 2 ปี ก็จะอยู่ต่อไป
เรื่องที่สอง ที่ผมคิดว่ามันเป็นกรอบที่มีความสำคัญก็คือ เรื่องของกรอบระยะเวลา กรอบระยะเวลาที่ถูกกำหนดและกติกาการเลือกตั้งที่ชัดเจน ผมคิดว่าหลังจากที่มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ถ้าทรงลงพระปรมาภิไธยไว้แล้วก็จะมีความชัดเจนว่า ต่อไประบบการเลือกตั้งเราจะเป็นอย่างไร คือระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบและใช้สูตรหาร 100 ผมคิดว่าทุกพรรคการเมืองต้องประเมินสถานการณ์กันใหม่ การประเมินสถานการณ์กันใหม่ก็คือการประเมินถึงโอกาสของการที่จะได้คะแนน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในชุดบัญชีรายชื่อ ซึ่งเราก็จะเห็นปรากฏการณ์ว่า พรรคขนาดเล็กจะอยู่ยากขึ้น ในอดีตระบบเดิมของเราบัตรใบเดียว ทำให้เราได้พรรคขนาดเล็ก คะแนนไม่มากนักแต่ก็ได้ด้วยวิธีการคำนวณที่ถูกออกแบบ แต่คราวนี้เมื่อเป็นการคำนวณแบบนี้ ผมเชื่อว่าโอกาสของพรรคเล็กก็ประเมินตัวเองว่าจะยากขึ้น เพราะฉะนั้นเชื่อว่าจะเกิดปรากฎการณ์ของการรวมพรรคขนาดเล็ก หรือพรรคขนาดเล็กรวมกับพรรคขนาดใหญ่ จะมีสูงขึ้นเพื่อทำให้เกิดความมีพลังของการต่อสู้ทางการเมืองไปหาเสียงทางการเมือง เพราะฉะนั้นกรอบกติกามีผลเหมือนกันที่จะทำให้ระบบพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้าเปลี่ยนแปลงอย่างไร
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมคิดว่าวันนี้ที่มีความสำคัญ คือคนตั้งคำถามว่าตกลงจะยุบสภาฯหรือไม่ หรือว่าจะปล่อยให้หมดวาระเลย ฟังท่าทีของท่านนายกฯพูด ก็พูดว่าจะอยู่ไปจนเดือนมีนาคมจนครบเทอม แต่สำหรับผมส่วนตัวผมอาจจะไม่เชื่อว่าจะครบเทอม เพียงแต่จะยุบ จะยุบเร็วหรือยุบช้า คือการยุบก่อนมันมีเงื่อนหนึ่งที่สำคัญ โดยถ้าปล่อยให้ครบเทอม กติกาการตรวจสอบการหาเสียง 180 วันบังคับใช้ และถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการยุบสภาฯกติกานี้มันหายไป
เพราะฉะนั้นวันนี้ ถ้าผมคิดว่าถ้าอยากจะ Play Safe คือปลอดภัย เพราะเราไม่รู้ว่าเราไปทำอะไรบ้างหลังช่วง 180 วัน นี้เราไปงานศพ เราไปงานอะไร คนอาจจะบันทึกอะไรไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าคนพบว่า 180 วันจะมีความโกลาหลพอสมควร หากมีการร้องเรียนก็จะทำให้กระบวนการของการจัดการเลือกตั้งและการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งยิ่งล่าช้า เพราะถ้าคุณยุบก่อน 7 วัน ก็ไม่มีปัญหา กติกานี้มันหายไป
การยุบสภาฯก่อนหลัง กติกาที่สำคัญประการหนึ่ง คือว่าถ้าเราปล่อยให้หมดวาระ การเลือกตั้งจะต้องทำภายใน 45 วัน แต่ถ้ายุบสภาฯ การเลือกตั้งจะต้องมีภายใน 45-60 วันแล้วแต่กกต.กำหนด ถามว่าตรงนี้มันยึดโยงกับอะไร มันยึดโยงกับสถานะของคนที่จะสังกัดพรรคเพื่อไปลง กรณีที่มีการยุบสภาฯต้องสังกัดพรรคภายใน 30 วัน แต่ว่ารัฐบาลอยู่จนหมดวาระต้องใช้เวลาสังกัด 90 วัน
จุดนี้ผมคิดน่าจะเห็นปรากฏการณ์ที่มี ส.ส.จำนวนหนึ่ง ที่ต้องลาออกแล้ว เพราะยังไม่รู้เลยว่าจะยุบสภาฯเมื่อไหร่ และไม่อยากเสี่ยงว่าจะนับวันอย่างไรในการสังกัดพรรค ซึ่งการสังกัดพรรคที่ชัดเจนเร็วในมุมของส.ส.เขาก็อาจจะคิดว่า ก็อาจทำให้พรรคมั่นใจว่าพรรคนั้นๆจะส่งเขาลงสมัครแน่นอน เพราะหากยิ่งช้า พรรคที่เนื้อหอมก็อาจจะมีความคิดว่า ยังไปสรรหาคนมาใหม่ และก็มีคนหน้าใหม่เข้ามา ดังนั้นส.ส.หลายคนจึงต้องรีบเข้าไปจองที่
ผมเชื่อว่าโอกาสที่จะมีการลาออกของส.ส.จากพรรคการเมือง ต่างๆ น่าจะมีขึ้นตามมาอีก เพื่อเตรียมลงไปหาเสียง และเพื่อทำความชัดเจนในเชิงข Position การหาเสียงในพื้นที่ ในเชิงของการประกาศตน และในเชิงของความมั่นใจของพรรคกับตัวผู้สมัครส.ส.เอง เพราะฉะนั้นกระบวนการของการย้ายพรรค จะรุนแรงมากคราวนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การย้ายพรรคไปสังกัดใคร ยังขึ้นอยู่กับสภาพการณ์ของพรรค ซึ่งวันนี้เราต้องยอมรับว่ามีทั้งกระแสที่เป็นในเชิงของนโยบายอุดมการณ์ หรือการดำเนินงานที่เป็นนโยบาย ที่จะเสนอต่อประชาชนที่วันนี้เริ่มเยอะขึ้น พรรคการเมืองเริ่มมีแพลตฟอร์มของนโยบาย มีแพลตฟอร์มของทิศทางว่าจะทำอะไรให้เกิดประโยชน์เกี่ยวกับประชาชน ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องที่ดี และประการที่สอง ผมคิดว่าประชาชนก็จะไปมองกระแสพรรคในมุมของผลการทำงานที่ผ่านมา ใครทำอะไรสำเร็จ ไม่สำเร็จอย่างไร ผมคิดว่ามีผล กับคนจำนวนหนึ่งที่เป็นคนติดตามการเมืองแบบเชื่อเรื่องบทบาทของพรรคในฐานะสถาบันการเมือง เพราะฉะนั้นสองเรื่องนี้ก็จะทำให้แต่ละพรรคมีความได้เปรียบเสียเปรียบไม่เหมือนกัน มีต้นทุนที่ไม่เท่ากัน ยังไม่นับองค์ประกอบที่สาม ที่ผมคิดว่าสำคัญมากของพรรคคือ พรรคจะมีใครเป็นแคนดิเดทนายกฯ ผมคิดว่าวันนี้การเลือกตั้งครั้งหน้ารายชื่อแคนดิเดทนายกฯก็จะมีความสำคัญ เพราะจะทำให้รายชื่อแคนดิเดทนายกฯและทีม ที่จะมาช่วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าคนจะมองถึงโอกาสของการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจและการฟื้นฟูประเทศ เพราะฉะนั้นทีมเศรษฐกิจจะมีความสำคัญ ทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาแล้วคนรู้สึกมั่นใจว่าใช่ ซึ่งบางทีการประกาศแค่ตัวแคนดิเดตนายกฯ อาจจะไม่พอ อาจจะต้องกลับมาพูดถึงเรื่องของทีมเศรษฐกิจว่าใครจะมาช่วยแบกรับ เพราะวันนี้เราต้องยอมรับว่าสังคมวันนี้ธุรกิจภาคเอกชน ภาครากหญ้าเองก็มองว่าปัญหาเศรษฐกิจยังไม่ค่อยฟื้นตัว ซึ่งอาจจะไม่ใช่เพราะความไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล แต่เป็นส่วนที่มาจากผลของการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 องค์ประกอบเหล่านี้จะมีความสำคัญมากขึ้น ส่วนองค์ประกอบสุดท้ายคือเรื่องทุนของพรรค ผมคิดว่าเรื่องการเมืองก็ต้องใช้ทุน เพราะฉะนั้นคนที่จะมาลงสมัครเลือกพรรค ก็จะมีองค์ประกอบดูกระแส ดูโอกาสของพรรค ดูผลสำเร็จผู้เลือกตั้งก็จะคิดเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไร เพราะฉะนั้นผมคิดว่า การเลือกตั้งหน้า จะมีปัจจัยที่จะทำให้คนตัดสินใจในการเลือกตั้งหลายปัจจัย
ฉะนั้นเราจะไปคาดเดาว่ากลุ่มผู้สูงอายุจะเลือกใคร กลุ่มเด็กจะเลือกใคร ผมคิดว่าไม่แน่แล้วในแต่ละพื้นที่ก็ไม่แน่ เพราะว่าในการเลือกตั้งระดับเขต ผมคิดว่าคนที่อดีตส.ส.ก็ไม่แน่ว่าจะเข้ามาได้หรือไม่ เพราะว่าคนใหม่ที่เขาเตรียมตัว คนใหม่ที่เขามีแนวทางและทำงานมานาน ก็อาจจะมีโอกาสเช่นกัน เพราะฉะนั้นเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรง
-พรรคเพื่อไทยจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ สูตรตั้งรัฐบาลนี้ มีการประเมินกันมาก
ผมคิดว่าทุกอย่างเป็นไปได้หมด สุดท้ายแล้วการเมืองหลังการเลือกตั้ง หลังจากที่รู้คะแนนผลการเลือกตั้งคิดว่าเงื่อนไขการจับมือเป็นรัฐบาล จะเป็นเรื่องของการต่อรอง เรื่องการของการตกลงเชิงการแบ่งจัดสรรหน้าที่ พูดง่ายๆก็คือจัดสรรโควตาสำคัญ แต่ผมคิดว่าตัวที่สำคัญมากเรื่องหนึ่งคือใครเป็นนายกฯ นั้นสำคัญมาก ใครจะเป็นทีม ตัวนายกฯจริงๆ อย่าลืมว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าการโหวตนายกรัฐมนตรียังอาศัยส.ว. 250 เสียง เพราะฉะนั้นเงื่อนไขคนนายกฯ ผมคิดว่าสำคัญ
เพราะจะทำอย่างไรเพื่อให้ส.ว.250 คนยอมรับ เราอาจจะตั้งสมมติฐาน ว่าถ้าพรรคใดได้ส.ส.เกิน 250 ที่นั่งพรรคใดเกิน 250 เสียง คล้ายๆพูดว่าด้วยเสียงข้างมาก จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ แต่การตั้งนายกฯ จะทำตั้งไม่ได้ คุณต้องอาศัยส.ว.อีก 250 คน คำถามก็คือว่า ส.ว.250 จะเห็นพ้องต้องกันไหมกับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้าผมไม่เห็นด้วยผมก็อธิบายไม่ยาก
ผมอธิบายว่าการเลือกตั้งก็ไม่ได้เป็นคะแนนสูงสุดจริงๆเพราะว่าเขาชนะกันไม่เท่าไหร่ คือมันมีคำอธิบายในกรณีที่ เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าการเป็นรัฐบาลครั้งหน้าปัจจัยที่คำนึงถึง นอกจากตัวนายกฯกับคะแนนเสียงทางคณิตศาสตร์แล้วการต่อรองกันแล้ว เงื่อนไขสำคัญคือเสียงของส.ว. แน่นอนว่า เราอาจจะรู้สึกเลือกเป็นนายกฯแต่ทำงานไม่ได้ ทำงานไม่ได้เพราะเมื่อเป็นรัฐบาล เป็นสภาล่างอย่างเดียว เสียงสู้ไม่ได้ ทำอย่างไรก็แพ้ จะอยู่ได้อย่างไร ก็ไม่เป็นไร แต่ผมยังไม่แน่ใจว่าส.ว.อาจจะไม่คิดอย่างนั้นก็ได้
เราต้องยอมรับว่าวุฒิสภาท่านก็มีดุจพินิจของท่าน ท่านก็มีความคิดของท่าน ท่านก็มีวิธีคิด ท่านมีความคิดความเชื่อของท่าน เพราะฉะนั้นเราก็บอกไม่ได้หรอกว่าท่านจะต้องโหวตตามผลการเลือกตั้ง พรรคไหนชนะมากท่านต้องโหวตให้คนนั้น ซึ่งไม่ใช่ มันเป็นเอกสิทธิ์ เพราะฉะนั้นผมยังคิดว่าที่ถามว่าเป็นไปได้ไหมที่ใครจับมือกับใคร ผมว่าเป็นไปได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าการจับมือกันร่วมรัฐบาลเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไปแล้ว ใครคือนายกฯ ผมคิดว่าปัจจัยและเงื่อนไขนี้เป็นสิ่งสำคัญของการชี้ขาด
-สังคมไทยเราเผชิญหน้ากับความขัดแย้งค่อนข้างยาวนาน ในอดีตเรามีเสื้อสี วันนี้เรามีเรื่องของคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าแล้วก็ลุกลามไปจนถึงการปฏิรูปสถาบัน ความขัดแย้งนี้ มันจะมีผลอะไรกับสังคม และ การเมือง
ผมคิดว่า 1.ความคิดเห็นที่ต่างกันอาจไม่ใช่ความขัดแย้ง คือ ความขัดแย้งเห็นไม่ตรงและแสดงออกแบบคนละทาง ซึ่งความคิดต่างเป็นเรื่องปกติของสังคม โดยเฉพาะสังคมประชาธิปไตย สังคมที่มีความเชื่อกันคนละแบบ สังคมที่มีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน สังคมที่มีอุดมการณ์ไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติ ที่ผ่านมาเนี่ยความขัดแย้งที่เราเห็นมันเป็นความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเสื้อสีต่างๆ เสื้อเหลือง เสื้อแดง เพราะว่าเรามีประเด็นของการต่อสู้ ที่ค่อนข้างจะชัดเจนว่าเอาใครไม่เอาใคร แต่ผมคิดว่าคราวนี้ความเห็นที่ต่างกัน ผมยังไม่รู้ว่าพัฒนาไปถึงความขัดแย้งหรือยังในสังคมนี้ แต่ทางออกประการหนึ่งของการที่จะทำให้ ประเด็นต่างๆที่เห็นไม่ตรงกันมีทางออก ในหลักการมันไม่มีอะไรเกินไปกว่าการได้พูดจาหารือกัน การได้ dialog การได้พูดคุย หารือมันเป็นทางออกว่าใครคิดอะไร แล้วอะไรเป็นไปได้ อะไรมันพอไปได้ อะไรมันไปไม่ได้
ฉะนั้นผมคิดว่าประเด็นต่างๆวันนี้ ที่เราอาจมองว่าเป็นความขัดแย้งเพราะว่ามันไม่มีเวที มันไม่มีที่เปิดให้คิด ไม่มีเวทีที่จะได้แสดงออกแบบเจรจาพูดคุย แต่ไม่ใช่การต่อรอง อาจจะเป็นพูดคุยอย่างน้อยรับฟังเสียก่อนว่ามีความคิดนี้อยู่ในสังคม เพราะฉะนั้นความเห็นที่แตกต่างหลายเรื่องที่ถูกแสดงออก เช่น movement ของคนรุ่นใหม่ หรือพรรครุ่นใหม่ที่ไป movement ข้อเสนอหลายเรื่องที่เป็นข้อกฎหมายใหม่ๆซึ่งสังคมก็มีทางออก แล้วก็ยอมรับ
ยกตัวอย่างวันนี้การเคลื่อนไหวของ LGBTQ ถือว่าเร็วมากในสังคมไทย ที่มีการยอมรับปรากฏการณ์นี้ขึ้น ในขณะที่หลายคนคิดว่าสังคมไทยอาจจะเป็นแบบอนุรักษ์ เป็นสังคมแบบประเพณีดั้งเดิม เข้มข้น แต่วันนี้เราก็ยอมรับมากขึ้นมีกฎหมาย ซึ่งไม่ได้เดินไปสู่ความขัดแย้ง ไม่นำไปสู่การแตกหัก แตกแยก เพราะมันมีกระบวนการของการ dialog มันมีเวทีคือสภาฯ และเมื่อพูดกันด้วยเหตุผลแล้วก็ยอมรับกันในระดับหนึ่ง ที่ใครไม่ได้สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง นี่คือตัวอย่างความเห็นที่แตกต่างหลากหลายของกลุ่มคน มันสามารถมีคำตอบ
ดังนั้นผมคิดว่าในอนาคตถ้าเรามอง อนาคตร่วมกันว่าเราจะหาทางออกของสังคมร่วมกัน ผมคิดว่ากระบวนการของการพูดคุยเจรจาหารือกัน เล่าสู่กันฟังว่าใครคิดอะไร เป็นเรื่องสำคัญ เป็นความจำเป็นในอนาคต
-การเมืองเรื่องทุกวันนี้การเมืองภาคพลเมืองเรามีความเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน
คือให้นิยามว่าการเมืองภาคพลเมืองนั้นต้องไม่ใช่ม็อบ ไม่ใช่การออกมาประท้วง การต่อสู้แบบเดิม คือ กลุ่มเสื้อสี กลุ่มสลิ่ม กลุ่มอะไรต่างๆ ถ้าการเมืองภาคพลเมืองคือความพยายามของกลุ่มคนในภาคประชาสังคมที่อยากจะเคลื่อนประเด็นที่ตัวเองสนใจ เคลื่อนประเด็นที่ตัวเองเห็นว่า รักษาประโยชน์ของตัว ผมยกตัวอย่างเช่น กลุ่มผู้บริโภค กลุ่มแรงงานต้องการเคลื่อนเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของคน
ผมคิดว่าวันนี้การเมืองภาคพลเมืองแบบนี้มันเติบโตขึ้นเยอะ เชื่อว่าการเคลื่อนไหวแบบนี้ของภาคพลเมืองจะเกิดมากขึ้นเมื่อใกล้เลือกตั้ง ในทางทฤษฎีบอกว่า Policy window คือหน้าต่างนโยบายเปิด ถ้าลองนึกถึงตอนที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เราจะเห็นชุดนโยบายของทุกคน หรือแม้กระทั่งชุดของผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผมคิดว่ามันเป็นนโยบายมีอยู่ สองสามชุด ชุดแรก คือนโยบายแบบแก้ปัญหาพื้นฐานดั้งเดิมของกทม. ก็ว่ากันไปเรื่องเจรจา เรื่องขยะ
ชุดที่สอง มันจะเป็นชุดที่ไปตอบโจทย์พื้นที่ ตอบโจทย์พื้นที่ของคุณชัชชาติคือการ ตอบโจทย์เรื่อง เขตคลองสามวา เขตบางเขน คือพื้นที่แถบนั้นไม่เหมือน เขาพยายามออกแบบว่าความจำเป็น แต่ชุดที่สามเนี่ยคือชุดที่ไปตอบโจทย์กลุ่มคน ตอบโจทย์กลุ่มคน กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มคนอยู่ในหมู่บ้าน ชุมชนแออัด กลุ่มหาบเร่แผงลอย กลุ่มวินมอเตอร์ไซต์ นี่คือกลุ่มประชาชน ซึ่งจริงๆกลุ่มพวกนี้อาจจะยังไม่ได้เคลื่อนด้วยซ้ำไป แต่เขาต้องพัฒนานโยบายนี้เพื่อไปตอบโจทย์ กับชุดสุดท้ายของผู้ว่าฯชัชชาติตอนนั้นคือนโยบายเพื่ออนาคต 10 ปี จะเป็นอย่างไร เรื่อง PM 2.5 จะเปลี่ยนไปอย่างไร เรื่องรถ EV เรื่องไฟฟ้า เรื่องคาร์บอน นี่เรื่องอนาคตหมดเลย
ผมคิดว่าการเมืองวันนี้ก็จะไปแบบนี้ เพราะว่าทุกพรรคการเมืองต้องไปหาฝ่ายสนับสนุนหรือ supporter ที่จะตอบโจทย์ทุกมิติ เพราะฉะนั้นนโยบายของพรรคการเมืองที่จะ นำเสนอจากนี้จะมีความหลากหลายมากขึ้น จำแนกละเอียดมากขึ้น เจาะไปเลยว่า ถ้าจะตัดเสื้อก็ต้องตัดให้พอดีตัวเลย เพราะฉะนั้นจังหวะนี้จะดีมากสำหรับกลุ่มชุมชนที่เป็นกลุ่มเคลื่อนไหว ทางกลุ่มที่เรื่องว่าการเมืองภาคพลเมือง เรื่องของของกลุ่มชนเผ่า เรื่องหาบเร่แผงลอย เรื่องของ Rider ผมว่าทุกอย่างสามารถเคลื่อนได้หมด แต่ว่าเราจะเห็นว่าถ้าเคลื่อนในเชิงผลประโยชน์แบบนี้ มันจะพัฒนาเป็นนโยบายได้
แต่ถ้าเคลื่อนเชิงหลักใหญ่แบบต้องเปลี่ยนปฏิรูป แก้รัฐธรรมนูญ แบบนี้ จะไม่ค่อยสำเร็จ เพราะเป็นการแก้รูปแบบ แต่ไม่เห็นประเด็น เพราะฉะนั้นวันนี้ความชัดเจนของการเมือง การเคลื่อนไหวภาคพลเมือง คือความชัดเจนเรื่องประเด็น อย่างล่าสุดที่เราดูข้อเสนอ ที่มีการแก้รัฐธรรมนูญเรื่องปลดล็อกท้องถิ่น ซึ่งนำเอาประชาชน 7 หมื่นกว่า มาเสนอร่างกฎหมาย รวมทั้งมีคนที่ไปร่วมกันเป็นกรรมาธิการ ที่ไม่ใช่เฉพาะภาคการเมือง เราจะเห็นผลโหวต ผลโหวตในภาคของส.ส. โหวตรับจำนวนถึง 200 กว่าคน โหวตไม่รับน้อย แต่ไม่งดออกเสียงจำนวน 100 กว่าคน จริงๆแล้วงดออกเสียงก็คือไม่รับ
แต่ทำไมคุณกล้า คุณจะบอกว่าไม่รับเลยไม่ได้ เพราะอะไร…ก็เพราะประเด็นมันชัด สังคมเห็นว่าเรื่องนี้มันถูก ฉะนั้นประเด็นมันชัดเจน ก็งดออกเสียงเพื่อมันไม่ผ่านหลักการแต่ว่า ทั้งๆที่โหวตไม่รับก็ได้แต่คุณไม่โหวต ดังนั้นมันแสดงว่าถ้าการเมือง ภาคพลเมืองเคลื่อนเรื่องประเด็นที่ชัดเจน เคลื่อนด้วยประเด็นที่มีเหตุมีผล แล้วก็มันพิสูจน์ได้ว่ามันเป็นประโยชน์ของสังคมโดยรวม ผมเชื่อว่าจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า Social Support เพราะฉะนั้นการเมืองภาคพลเมือง คือการประเด็น แล้วทำให้สังคมเกิดความตระหนัก เกิดความรับรู้ และความรู้สึกร่วมว่ามันเป็นประเด็น ที่ควรให้ความสนใจ และควรให้การสนับสนุน ผมคิดว่าการเคลื่อนแบบนี้ทำให้ประเด็นหลายเรื่องของการเมืองภาคพลเมืองมีความเด่นชัดขึ้น แล้วก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น
-อยากให้ฝากถึงภาคสังคม
ผมคิดว่าสังคมการเมืองไทยคงต้องคิดถึงเรื่องของอนาคตระยะยาวมากๆ การเข้าสู่อำนาจในทางการเมืองเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การวางหมุดหมายการวางเป้าหมายระยะยาวที่จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องสำคัญ ผมก็คิดว่าพรรคการเมืองและรัฐบาล ก็ต้องพยายามคิดอย่างนี้ด้วย ก็คือทำการเมืองเพื่อบ้านเมือง ไม่ใช่ทำการเมืองเพื่อการเมือง ต้องคิดเรื่องระยะยาว ต้องมองเห็นอนาคต แล้วก็คิดถึง แล้วก็ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แล้วก็มาพูดคุย แล้วก็พยายามที่จะลดความเสี่ยงของโอกาสของความขัดแย้งทางความคิด ในสังคมนี้ให้มากขึ้น
และผมคิดว่าถ้าทุกคนร่วมกันที่จะมีสิ่งที่เรียกว่า share filter คือ การเห็นอนาคตร่วมกัน แล้วก็มีความตั้งใจร่วมกันผมคิดว่าบ้านเมืองก็เดินได้ เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งครั้งหน้าผมคิดว่าดุลพินิจของ voter นี่สำคัญมาก ดุลพินิจ voter ที่จะได้วินิจพิเคราะห์ให้ดี ว่ามันเป็นเรื่องที่เขาควรจะเลือกใคร มากกว่าเรื่องของการเห็นแก่ผลตอบแทนหรือการที่จะเห็นแก่ประโยชน์เล็กน้อย แต่การมองระยะยาวว่าเรามั่นใจหรือไม่ว่าผู้ที่เราเลือก พรรคการเมืองที่เราเลือกเป็นคำตอบที่เหมาะสมกับสังคมนี้
และสุดท้ายผมคิดว่าสังคมเราต้องช่วยกันยึดหลักอันหนึ่งที่สำคัญมากคือหลักนิติธรรม หลักของความถูกต้อง หลักของการที่จะยืนอยู่บนความถูกต้อง ความตรงต่อหลักของกฎหมาย เราไม่ควรจะใช้ข้อยกเว้นเพื่อทำให้คนรู้สึกว่าเลือกปฏิบัติ ผมคิดว่าหลักนิติธรรมจะเป็นหลักสำคัญที่สุดของการที่จะทำให้สังคมนี้มีที่พึ่ง