อานนท์ ปฐมนิเทศนักกฎหมาย ชวนสร้างสังคมใหม่ จ่อเดินหน้าอาชีพ ‘ทนาย’
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 5 พฤษภาคม ที่นิติสโมสร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีจัดงานปฐมนิเทศนักกฎหมายรุ่นใหม่ทั่วประเทศ โดย นายอานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน เดินทางไปร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ขอฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง : อุดมคติ ประสบการณ์ และโลกแห่งความเป็นจริงจากมุมมองของนักกฎหมายคนหนึ่ง”
เวลา 15.18 น. นายอานนท์กล่าวบรรยายว่า หลายคนอาจจะเข้ามาใช้ชีวิตในเส้นทางกฎหมาย เป็นนักกฎหมายวิชาชีพ ด้วยความที่ตนมา ม.เชียงใหม่บ่อยครั้ง ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาที่สามารถสอบคัดเลือกเข้ามาเรียนที่นิติฯ ม.เชียงใหม่ได้ เพราะเป็นคณะนิติศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย เป็นมหาวิทยาลัยที่มีสิ่งแวดล้อมน่าเรียน และมีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนสัมมนาทางกฎหมายมากที่สุดแห่งหนึ่ง ตนพูดวันนี้ในบริบทและบนเงื่อนไข 4 ประการ เพื่อที่จะบันทึกไว้ว่าได้พูดในบริบทที่สถานการณ์ไม่ปกติอย่างไร
นายอานนท์กล่าวว่า บริบทประการแรกคือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ 19/2564 ว่านายอานนท์และพวกอีก 2 คน คือ ไมค์ และ รุ้ง นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ เป็นบุคคลที่ล้มล้างการปกครอง จากการลุกขึ้นมาพูดเรื่องสถาบัน หลายคนมองว่าเป็นคุณค่าของฝ่ายประชาธิปไตย แต่อีกฝ่ายมองอีกแบบ หากชนชั้นนำไทยมาแนะนำตัวอานนท์ ก็จะพูดเป็นอีกแบบ
นายอานนท์กล่าวต่อว่า ประการที่ 2 ปัจจุบันตนถูกสภาทนายความประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นองค์กรวิชาชีพที่สังกัดอยู่ ‘เพิกถอนใบอนุญาตทนายความ’ เหตุคือตนไปปราศรัยวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ที่สวมชุดแฮร์รี่พอตเตอร์ พูดเรื่องปฏิรูปสถาบัน ซึ่งมีคนไปยื่นสภาให้เพิกถอนตน
เงื่อนไขประการที่ 3 ตนได้รับการประกันตัวจากคดี 112 ที่มีอยู่ 12 คดีโดยมีเงื่อนไข ห้ามพูดถึงสถาบันและศาล ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และห้ามร่วมชุมนุมในทุกโอกาส เป็นเงื่อนไขที่รับมา
และ เงื่อนไขข้อที่ 4 ซึ่งยังไม่เกิด แต่ที่ต้องพูด อยู่ในบรรยากาศที่คนรุ่นใหม่ 11 คน ถูกจองจำในเรือนจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีนักศึกษาที่เรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยโดนขังในคุก มีหลายคนที่รอถูกเพิกถอนประกันตัว และอีกหลายคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกควบคุมโดยคำสั่งห้ามเข้าร่วมการชุมนุม
“เมื่อพูดในบริบท 4 ข้อนี้ ถ้าจะพูดเรื่องความสำเร็จในการเรียน ก็อาจจะเท่ แต่ก็คิดต่างว่าไม่ได้มีประโยชน์อะไรมาก เพราะเรียนไปก็จะเรียนรู้ไปเองถ้าไม่เกเรจนเกินไป จึงจะขอพูดถึงประวัติการต่อสู้ การทำงานเป็นทนายความ และนักเคลื่อนไหว
“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้พูดคุยกับ อ.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ ถึงขบวนการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งข้อที่เรายังทำไม่สำเร็จ อ.สงกรานต์ใช้คำว่า ‘คนรุ่นใหม่ยังไม่สามารถนำเสนอให้คนทั้งสังคม ชนชั้นนำไทยได้เห็นว่า สังคมนี้มีความเป็นไปได้อื่นอยู่’ ของการที่สังคมจะขับเคลื่อนไปสู่สังคมใหม่ได้ ที่คนมีสิทธิ เสรีภาพ และเสมอภาค คนรุ่นใหม่เห็นภาพแล้ว ทั้งความเท่าเทียมทางด้านเพศและสิทธิพลเมือง แต่เรายังไม่สามารถขายฝันของเราให้กับชนชั้นนำไทยได้ ไม่สามารถตอบคำถามให้กับตำรวจ หรือนายร้อย จปร.ได้ว่า ถ้าจบมาแล้วคุณไปรับกระบี่ แล้วจะเป็นอย่างไร ยังไม่สามารถขายฝันให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ว่าคุณค่าของปริญญาคืออะไร แต่คนรุ่นใหม่รู้แล้วว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องการ
“รวมถึงเรายังไม่สามารถขายฝันให้กับพรรคการเมืองบางพรรคได้ อย่าง ‘เพื่อไทย’ แม้แต่ ‘ก้าวไกล’ ที่ซื้อแค่บางส่วน จึงต้องพูดว่าการต่อสู้ฝ่าฟันผองภัยด้วยใจทะนง มีข้อบกพร่องอะไรบ้าง และต้องพูดถึงคนที่อยู่ในเรือนจำด้วย ซึ่งล่าสุด ตนได้รับข้อความจากทนายความที่เยี่ยมน้อง ‘เก็ท’ รวมถึง ‘ตะวัน’ ที่ประกาศอดอาหารประท้วงกระบวนการยุติธรรม วันนี้เก็ทที่โดนจับก็ประกาศอดข้าวจนกว่าจะได้รับสิทธิการประกันตัวเหมือนกัน เหล่านี้ คือคนที่เกิดและเติบโตในยุคที่ต้องท่องค่านิยม 12 ประการ แต่ทำไมเขาถึงมีความคิดออกมาต่อสู้ อยากให้ศึกษาแนวคิด และการต่อสู้ของเขาไปด้วย” นายอานนท์ระบุ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คณบดี-อ.นิติฯ มช. ยก ‘ทนายอานนท์’ ทรงอิทธิพลสุดในวงการ ก้าวข้ามนักกฎหมาย สู่นักเคลื่อนไหวทางสังคม
ย้อนเส้นทาง’อานนท์’
ก่อนแขวนชีวิตนักกฎหมายไว้ที่ม็อบ
“ตอนที่ผมอายุเท่าเขา หรือน้อยกว่า ทำไมถึงมาเลือกเรียนกฎหมาย พยายามคิดย้อนไป ก็มีคำตอบอยู่ 2-3 ประการคือ ตอนสมัยเรียนมัธยมผมสนใจทางกฎหมาย ตอนเรียน ม.ปลาย ก็มีโอกาสตอบปัญหาด้านกฎหมาย, อยู่ ม.6 ได้เป็นประธานนักเรียน มีทักษะด้านการพูดในที่ชุมชน, เรียนมหาวิทยาลัย ตอนแรกไม่ได้เลือกเรียนกฎหมาย เราชอบเรื่องการเมือง ประวัติศาสตร์ จึงเป็นเหตุผลที่เลือกเรียน ม.ธรรมศาสตร์ 3 อันดับแรก แขวนอันดับ 4 คณะสังคมวิทยาฯไว้ แต่คะแนนไปถึงแค่คณะสังคมวิทยาฯ ก็ตัดสินใจเอา เพราะเป็น มธ.
“มีตอนหนึ่งที่ไปอาบน้ำ ได้ยินคนเรียนนิติศาสตร์ท่องกฎหมายแพ่ง อาทิตย์ที่ 2 ก็ยังท่องอีก ท่องจนผมจำได้ จึงคิดว่าจริงๆ เราต้องเรียนกฎหมายมากกว่า ที่เขาต้องท่อง ผมไม่ต้องท่องเพราะจำได้ และครอบครัวก็เห็นจริตเราว่าต้องเรียนแบบนิติศาสตร์ เรียนอะไรที่ไปเถียงคน จากนั้นได้ไปดูการต่อสู้ของชาวจะนะ ร่วมเคลื่อนไหวกับแรงงานที่รังสิต ไปเป็นครูอาสาบนดอย ใช้วิธีนี้มาตลอดจนใกล้เรียนจบ ช่วงปี 2548-2549 มีการชุมนุมพันธมิตรไล่ทักษิณ ก็ไปด้วย
“เป็นการแขวนชีวิตนักกฎหมายไว้กับม็อบ เพราะสอบไม่เคยตกสักตัว บนไว้ว่าถ้าได้เกรดดีจะไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย แต่ด้วยการไปอยู่ม็อบ ก็ทำได้แค่สอบผ่าน เมื่อไม่ได้เป็นอาจารย์ ก็จะเป็นทนายอย่างเต็มที่ ขอไปฝึกงานกับ อ.สงกรานต์ ที่เอ็นลอว์ ได้เรียนรู้ทักษะการว่าความสิทธิมนุษยชนกับชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทั้ง อ.จะนะ อ.บ่อนอก ฯลฯ ระหว่างฝึกงานอยู่ก็ไปรับใช้ชาติ จับใบแดง เป็นทหารเกณฑ์ 1 ปี ระหว่างนั้นสอบเนติบัณฑิต เพราะมีเวลาไม่ต้องไปตัดหญ้า และสอบได้ใบทนายความตอนเป็นทหารเกณฑ์อยู่” นายอานนท์ระบุ
นายอานนท์กล่าวต่อว่า ครั้งแรกของชีวิตคือการว่าความในศาลทหาร เพราะเป็นทหารเกณฑ์ ใครทำผิดต้องขึ้นศาลทหาร ก็ว่าความกันไป ทำให้ผมโชคชะตาผูกพันกับศาลทหาร ปรากฏว่าปีแรกว่าความชนะ ผมก็คิดว่าต้องเป็นทนาย ทำตั้งแต่บัดนั้น หลังพ้นทหารเกณฑ์ทำคดีช่วยชาวบ้านมาตลอด ตระหนักถึงศักยภาพที่เรามี คดีแพ่งก็ทำเพราะได้เงิน แต่ไม่ได้ความอิ่มเอมใจ แต่เอาจริงผมถนัดคดีแพ่งมากกว่าคดีอาญาด้วยซ้ำ ตั้งใจทำงานทนายความมาตลอด ว่าความถี่มาก
“ช่วงที่เป็นวัยรุ่นอยู่ ค่าเครื่องบินแพงมาก ต้องนั่งรถทัวร์ นั่งรถตู้ไป แต่ก็รู้สึกไม่เหนื่อย ว่าความบ่อยๆ ทำให้พื้นที่หน้าศาลกลายเป็นของเรา จนเกิดทักษะ โชคดีที่ได้ฝึกงานกับทนายความด้านสิทธิ อะไรที่ไม่คิดว่าจะมีในสากลโลก เราก็สามารถทำได้เพราะทนายความสิทธิฯสอนตลอด เช่น หากว่าความไปแล้วศาลไม่บันทึก จะแก้อย่างไร, เราจะตั้งข้อสังเกตผู้พิพากษาอย่างไร รวมถึงการยื่นคัดค้านก่อนถูกฝากขัง เป็นต้น ซึ่งการว่าความที่มีชาวบ้านจำนวนมาก นอกจากมีศาล ทนาย จำเลย ยังมีท่านผู้ชมนั่งฟังเบียดกันข้างหลัง จะมีความรู้สึกสนุกเหมือนเชียร์มวย ทำให้การทำงานทนายความสนุกและเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน ว่าความเสร็จ ชาวบ้านก็พาไปเลี้ยงข้าว ออกเรือ ตกหมึก มันหล่อเลี้ยงเรา เรื่องสิ่งแวดล้อม คดีอื่นๆ เช่น การชุมนุมมั่วสุม การพยายามฆ่ากันในม็อบ ทำให้เรามั่นคงในการว่าความคดีอาญามากขึ้น” นายอานนท์กล่าว
นายอานนท์กล่าวต่อว่า พอมาปี 2553 มีการชุมนุมคนเสื้อแดง ตนได้มีโอกาสเข้าไปช่วยว่าความ ซึ่งข้อหาไม่ต่างกัน อาทิ การชุมนุม, ปราศรัย, ม.116 และเริ่มมี ม.112 ผุดขึ้นมาในสังคมไทย ตนได้สัมผัสกับเนื้อหาที่พูดถึงสถาบันผ่านทางคดี ทำให้ได้สัมผัสกับข้อเท็จจริง
“เป็นเชื้อที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ ที่มี EM ติดขา ติดคุกไปเป็นปี ล้วนมีเชื้อมาจากข้อเท็จจริงเหล่านั้น เช่น ใครสลายเสื้อแดง ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เข้าใจไปเอง แต่ข้อเท็จจริงนำไปสู่การค้นหาของทนายความว่าที่พูดถูกต้องหรือไม่ เป็นเชื้อเพลิงว่าปัญหาโครงสร้างของบ้านเราลึกมากกว่าการขอให้นายอภิสิทธิ์ยุบสภา
ปี 2553 ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนลี้ภัย ไปกัมพูชาว่าการต่อสู้ไปถึงขั้นไหน และได้รับทราบว่าแหลมคมกว่าที่เรารับรู้ เขาต้องการให้สังคมเป็นประชาธิปไตยไกลกว่าที่เป็นอยู่” นายอานนท์ระบุ
คดีล็อตที่ 2
เริ่มมองเห็นสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง
นายอานนท์กล่าวต่อว่า ตอนที่เราใช้ชีวิตในมหาวิทลัย สิ่งที่พูดคุยกันในวงเหล้า หรือในวงประชุมนั้น เป็นไปได้ มีคนเสื้อแดงคิดแบบนี้ที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม จึงทำให้ตนช่วยเขาอย่างสนิทใจมากขึ้น
“คนที่ลูกเขาถูกยิงตายจากการชุมนุม เข้าไปทำกิจกรรมโดยเข้าใจเขามากขึ้น และเข้าใจบริบทมากขึ้นว่า ปัญหาบ้านเมืองมีมากกว่านั้น จนกระทั่งปี 2557 ที่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น เราเป็นนักกิจกรรมและเป็นทนายความด้วย และอานนท์มีตัวตนในถนนสายนี้มากขึ้น มีสายสัมพันธ์กับเสื้อแดง นักศึกษา และการเคลื่อนไหว ในปี 57 เราออกมาใช้วิชาชีพในการต่อต้านรัฐประหาร
“ผมรวบรวมรายชื่อฟ้อง คสช. และรวมกับเพื่อนออกมาขับไล่ คสช.เป็นจำเลยครั้งแรกในปี 2558 ในนามกลุ่ม พลเมืองโต้กลับ จากการชุมนุมหน้าหอศิลป์ มีคำสั่ง คสช.ที่ 7/2553 ผมไม่คิดไม่ฝันว่าตัวเองจะเป็นจำเลย เรียนกฎหมายมาทั้งชีวิต ต้องเป็นผู้เล่นอีกอย่าง นั่งแค่โต๊ะทนาย ประจันหน้ากับอัยการ คิดไม่ออกว่าตัวเองในชุดผู้ต้องขังในฐานะจำเลยที่จะต้องไปนั่งข้างหลังเป็นอย่างไร นึกไม่ออกว่าชีวิตในคุกเป็นอย่างไร
“วันแรกที่ทนายพาเข้าไปนั่งรอในคุก ทำให้เราตระหนักถึงความแย่ของตัวเองตอนเป็นทนาย พอได้เข้าไป ทำให้รู้ว่าจำเลยอยากเจอทนาย เพราะไม่รู้จะคุยกับใคร เป็นบทเรียนให้ตัวเอง ทำให้เข้าไปเยี่ยมผู้ต้องขังถี่ขึ้น รวมถึงเป็นทนายจำเลยตัวเองไปด้วย ว่าความตัวเองไปด้วย” นายอานนท์กล่าว
นายอานนท์กล่าวต่อว่า การเป็นนักกฎหมายและไปเกี่ยวข้องกับศาลทหาร ทำให้ได้เห็นความสัมพันธ์ในเชิงโครงสร้างของกระบวนการยุติธรรมอีกแบบหนึ่ง
“ตำรวจรู้ได้อย่างไรว่าจะฝากขังตอน 4-5 ทุ่ม แล้วรู้ได้อย่างไรว่าราชทัณฑ์จะเตรียมรถมารับ หรือว่าองค์กรเหล่านี้คือหนึ่งอันเดียวกัน เกิดคำถามขึ้นว่าเป็นอิสระต่อกันจริงหรือ” นายอานนท์กล่าว
นายอานนท์กล่าวว่า เมื่อย้ายคดีมาศาลพลเรือนก็มีคดีล็อตที่ 2 ซึ่งตนเป็นทั้งจําเลยและทนายความ คือเมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ รัฐบาล คสช.มีแนวโน้มจะไม่จัดให้มีการเลือกตั้ง ตนจึงไปเรียกร้องด้วย ในนามกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” เกิดคดีขึ้นมาอีกล็อต มาตรา 116
“ก็เป็นทั้งจําเลยและทนายความ ได้เห็นบทบาทขององค์กรที่อยู่รอบกระบวนการยุติธรรมว่ามิติความสัมพันธ์เป็นอย่างไร แต่ก็ยังไม่ชัดเท่าศาลทหาร โชคดีที่คดีนี้ได้รับการประกันตัว ผมว่าความด้วยความสนุก เพราะเราเป็นจำเลยด้วย รู้ข้อเท็จจริงในคดี แทบไม่ต้องสอบเพิ่ม ได้เปรียบตรงนี้ แต่คดีคนอยากเลือกตั้งตอนนี้ก็ยังสืบพยานไม่เสร็จ” นายอานนท์กล่าว
ฟางเส้นสุดท้าย
ยุบอนาคตใหม่-สถานการณ์พาไป
นายอานนท์กล่าวต่อว่า จากนั้นมาบริบทและความคิดของคนเปลี่ยนไป มีปรากฏการณ์บางอย่างที่สะกิด คือการเลือกตั้งปี 2562 กำเนิด พรรคอนาคตใหม่ ที่พูดแทนคนรุ่นใหม่จำนวนมาก ซึ่งเหมือนจะแหลมคนในช่วงนั้น ได้เสียงคนรุ่นใหม่พอสมควร
“แต่น้ำผึ้งหยดเดียว ฟางเส้นสุดท้าย คือการยุบพรรคอนาคตใหม่ เกิดเทรนด์ติดแฮชแท็กใน twitter ซึ่งเกิดมาไม่เคยเห็นการพูดถึงสถาบันอย่างโจ่งแจ้งขนาดนี้มาก่อน เส้นแบ่งเริ่มจางจนมาถึงจุดนี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร
“ในช่วงต้นปี 2563 มีการชุมนุมที่เริ่มจาก นักศึกษามหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯเกือบทุกมหาวิทยาลัย นักศึกษาเริ่มชุมนุม ไม่ได้พูดตรงๆ ว่าปัญหาประเทศคืออะไร แต่พูดอ้อมๆ เราจะได้เห็นประโยคลอยๆ ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงของเราในปี 2549 โดยเฉพาะปี 2553 ที่มองว่าการชุมนุมทำได้แค่ในมหาวิทยาลัย จนกระทั่งเกิดกลุ่มกิจกรรมขึ้น จุดเรื่องนี้ขึ้นมา คือ ‘เยาวชนปลดแอก’ ว่าต้องลงถนน ตอนนั้นเป็นทนายความไปสังเกตการณ์ ไม่ได้รู้สึกอยากขึ้นเวที เห็นว่าเป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ แต่สถานการณ์พาไป เพราะคนที่สามารถพูดในที่สาธารณะ มีจำกัด ทำให้คนที่มีวิชาชีพอื่นอย่างทนายความหรือ NGO ขึ้นเวทีร่วมกัน คือจุดที่ทำให้ผมมาถึงวันนี้ได้” นายอานนท์เผย และว่า
“ปี 2563 ก่อเกิดม็อบที่ยังไม่มีการนิยามตัวเอง วันที่ 18 กรกฎาคม ลงม็อบที่ราชดำเนิน ทุกคนสรุปว่าลงถนน ‘ทำได้’ ไม่ถูกยิงตายเหมือนปี 2553 แต่ทุกคนจะพูดปัญหาแบบอ้อมๆ รู้กันเองจากป้าย และคำปราศรัย นักเคลื่อนไหวก็คุยกันว่า ต้องให้คำจำกัดความให้ชัดว่าต้องการอะไร เพื่อเปลี่ยนสังคมเชิงโครงสร้าง คนเท่ากันจริงๆ เหมือนหนังเรื่องแฮรี่พอตเตอร์ น้องที่ ม.เกษตรบอกให้ผมเปิด จึงตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้อย่างเต็มตัว ใส่ข้อมูลที่เราเป็นทนายความจากปี 2553 เอาข้อเท็จจริงตอนช่วงรณรงค์คนอยากเลือกตั้งว่ารัฐธรรมนูญ คสช.และการใช้อำนาจมีปัญหาอย่างไร เรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราเป็นทนายความมาโดยตลอด นำมาปราศรัยในม็อบบนเวที โดยไม่ได้เตรียมข้อมูลอะไรมาก จนเกิดคดีชุดที่ 3 ที่ตัวเองโดน”
คดีชุดที่ 3
กำเนิดราษฎร’63 หนทางสู่จุดพีค
นายอานนท์กล่าวว่า การฝ่าผองภัยด้วยใจทะนง ในฐานะทนายความก็สนุกดี เพราะยังถูกมองว่าเราเป็นทนายน้ำดี จึงให้ประกัน แต่หลังปี 2563 มิติการมองเปลี่ยนไป เพราะสิ่งที่เรียกร้องไปกระทบอะไรบางอย่าง เช่น ความคิด ความเชื่อ ไม่เฉพาะคนในกระบวนการยุติธรรม แต่รวมถึงคนจำนวนหนึ่งในสังคมด้วย
“3 สิงหาคม ระหว่างปราศรัยไม่มีเสียงปรบมือแม้แต่แอะเดียว ได้ยินเพียงแค่เสียงธงชาติสะบัด ตำรวจเรียงแถวหน้ากระดาน มองหน้ากัน ‘มันพูดได้หรอ’ โทรหาผู้กำกับการว่า ‘เกิดอะไรขึ้น’ พูดเรื่องการปฏิรูป เตรียมตัวแบบไม่ให้ติดคุก และวันนั้นก็ไม่มีคดีด้วย พอพูดเสร็จลงมาข้างล่าง มีพี่ผู้หญิงเสื้อแดง วิ่งมาจับมือว่า ‘พี่กลัวว่ะ’ ผมคิดว่า ก็ทำไป ติดคุกก็ค่อยไปแก้ปัญหา แต่พอประกาศต่อว่าจะไปเชียงใหม่ 9 สิงหาคม จึงมีหมายจับ ไปไต่สวน ฝากขัง
“ก่อนหน้านั้นได้คุยกันเพนกวินและคนอื่นๆ ว่าต้องพูดประเด็นนี้อย่างจริงจัง ผมจึงไปพูดที่เชียงใหม่ แล้วบินกลับมาพูด วันที่ 10 สิงหาคม ที่ลานพญานาค ม.ธรรมศาสตร์ วันนั้นคนตั้งใจมาฟังเรื่องนี้ มาเต็มลาน เรือนหมื่นได้ จัดแสง สี เสียง จอใหญ่ มีเพลิงเป็นฉากหลัง
เริ่มแปลกๆ มีการอ่านแถลงการณ์คณะราษฎร เริ่มจะไม่ I here too สักพักรุ้งขึ้นไปอ่านข้อเสนอ 10 ข้อ เท่านั้นเองขาเราเริ่มเย็น เสียงเฮคนดังมาก วันนั้นไม่กล้านอนบ้าน ผมกับพี่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ หรือพ่อน้องเฌอ จึงตระเวนไปนอนที่อื่น ปรากฏว่ารอด พักบ้านเพื่อน 5-6 วัน ไม่กล้าปรากฏตัว ต้องขอบคุณอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ซัพพอร์ตการแสดงออกของคนรุ่นใหม่” นายอานนท์กล่าว
นายอานนท์กล่าวว่า การชุมนุมทำให้เราเรียนรู้ว่าปัญหาโครงสร้างเราพูดได้เต็มที่หรือไม่ การชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม จึงเป็นการลดเพดานลง และโดนด่าว่าลดเพดาน ผมจึงคุยกับทีม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม คนที่มาร่วมเขาตั้งใจมาฟัง เมื่อไม่ได้ฟังก็ผิดหวัง ทีมธรรมศาสตร์จึงจัดม็อบ 19 กันยา ทวงคืนสนามหลวง ซึ่งก่อน 19 สิงหาคมก็มีหมายจับ ผม กับไมค์ เป็นครั้งแรกที่นอนในคุกอย่างเป็นทางการ ผมประกาศไม่ยื่นประกัน ติดคุกอยู่ 3 วัน ได้เข้าไปเจอผู้ต้องขังการเมือง พี่เต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ขณะที่คุยกันก็มีหมายปล่อย ตำรวจไปถอนคำร้องขอฝากขังเอง ซึ่งมารู้ที่หลังว่าเพราะไม่ต้องการให้เราเป็นชนวนให้คนมาม็อบ 19 กันยายน
“ปรากฏว่าวันนั้นพีคมาก ทุกคนพูดได้อย่างเป็นเหตุเป็นผล คำหยาบน้อยมาก เอาประสบการณ์คดีมาพูด และผมมั่นใจมากกว่าไม่โดน ม.112 เพราะตอนนั้นมีนโยบายไม่ใช้ ม.112 แต่เพิ่งมาถูกแจ้งความทีหลัง เพราะม็อบโปรมาก คนมาเป็นแสน คิดว่าต้องปิดจ๊อบ จึงนัด 14 ตุลาคมไปทำเนียบ คนเยอะมาก มีการเอาคนเสื้อเหลือง ทหาร ตำรวจ มายืนรอบราชดำเนิน คนมืดฟ้ามัวดินเยอะจนน่ากลัว เรามีรถดำ 3 คัน มองคนไปสุดลูกหูลูกตา เราก็ฮึกเหิมมาก ไปล้อมทำเนียบไล่ประยุทธ์ เตรียมค้าง 3 วัน 3 คืน ประยุทธ์ออกแน่ แต่เราประเมินชนชั้นนำต่ำไป เขายังใช้มุขเดิมๆ อยู่
“ช่วงค่ำมีการตั้งข้อหามาตรา 110 มีการปลุกปั่นเยอะมาก ได้ข่าวว่ามีการนำทหารจาก จ.กาญจนบุรี เข้ามากรุงเทพฯ ได้ข่าวว่ามีทหารสวมเสื้อเหลืองไปแฝงกับตำรวจ ช่วง 3-4 ทุ่มมีข่าวว่าจะมีการล้อมปราบ โดยใช้กำลัง ต่อมา มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ผมได้คุยตำรวจคืนนั้นว่าจะสลายหรือไม่ ตำรวจบอกว่า ‘ไม่สลาย แต่มีสลายแน่ๆ’ จึงต้องคุยกับทีมว่าเราต้องไม่กลับไปรอยเดิม 6 ตุลา หรือพฤษภาทมิฬ ไม่ได้ ถ้าทหารมาจับ ชาวบ้านต้องเข้าไปแน่ จึงประกาศยุติการชุมนุม
“ในคืนนั้นมีพี่น้องเชียงใหม่ไปหลายคน มีอาจารย์จาก ม.เชียงใหม่ไปด้วย เอาประสบการณ์มาเล่าให้ฟังว่า ต้องแก้ปัญหาอย่างไร คือต้องเซฟขาวบ้านก่อน สุดท้ายแกนนำต้องยอมให้โดนจับ แต่แบ่งแกนนำส่วนหนึ่งให้กลับที่พัก ผมกับ ‘ประสิทธิ์’ นักศึกษา ม.เชียงใหม่ ถูกจับแยก ขึ้นเครื่องบินมาเชียงใหม่ ตอนนั้นยอมรับว่าเหนื่อย ไม่ได้นอนทั้งคืน มีหน่วยหนุมาน ถือปืนเข้ามาเป็นชุด ผมนึกถึงภาพแกนนำเสื้อแดงถูกจับขึ้นฮ.” นายอานนท์เผย
คนกลุ่มเดิมในวิญญาณใหม่
ต้อง ‘ขายฝัน’ สร้างสรรค์สังคม
นายอานนท์กล่าวต่อว่า จากนั้นปรากฏคนกลุ่มเดิมในวิญญาณใหม่ หลังแกนนำโดนจับ ม็อบเรามีการชุมนุมในกรุงเทพฯ ที่ราชประสงค์และต่างจังหวัดเยอะมาก คนรุ่นใหม่ที่สมาทานการต่อสู้แบบใหม่ขึ้น เวลาเรามองไปที่ฮ่องกง ภาพยังไม่ชัด แต่ม็อบที่เป็นคนรุ่นใหม่จริงๆ คือหลังจากเราติดคุก มีการชุมนุมที่เชียงใหม่เยอะมาก เพราะมีการใช้สารพิษ ใช้น้ำสลายชุมนุม มีการนัดผ่านทวิตเตอร์ เทเลแกรม มีปรากฏการณ์การชุมนุมแบบใหม่ ขอหมวก-ขอร่ม คือเส้นแบ่งตรงนี้
“พอเราเข้ามาคิดคุกนานๆ อย่างแท้จริง ที่ จ.เชียงใหม่ ทำให้เราเห็นชัดแล้วว่าปัญหาเชิงโครงสร้างที่พูดถึงมีทุกมิติเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเก่าอย่างแนบแน่น เห็นคนรุ่นใหม่เป็นอาชญากร ภาพในหัวตอนนั้นนึกถึงทนายเกาหลี ที่ติดคุกนานๆ
“ประสบการณ์สอนว่าให้เชื่อใจคนข้างนอกที่รู้ว่าต้องทำอะไร ต่อสู้เรียกร้องให้เราได้ออกมา ทะนงจริงๆ มัน รู้สึกดี เพนกวินแถลงในศาล แต่ทุกอย่างแลกด้วยต้นทุน ทุกคนมีรายจ่าย ทะนงจริงๆ รุ้งถึงขนาดกรีดข้อมือตัวเอง เพนกวินอดข้าวต่อสู้ด้วยใจทะนงจริงๆ และเราได้เห็นการกลับมามีบทบาทอีกครั้งของอาชีพทนายความ อาสาสมัครที่แบ่งเวลามาทำคดีสิทธิฯ เราเห็นทนายความวิชาชีพอาวุโส มาว่าความร่วมกับน้องๆ อย่างเอาจริงเอาจัง ออกมารับใช้ความคิดของตัวเอง สำคัญคือเราได้เห็นคนในกระบวนการยุติธรรมหลายส่วน ว่าเขาอยู่ข้างเรา” นายอานนท์กล่าว
นายอานนท์กล่าวต่อว่า คนที่ปกป้องสังคมเก่ามีจริง มีเยอะ แต่เราได้เห็นการยกฟ้อง การสั่งไม่ฟ้องในคดีชุมนุม ทำให้เห็นว่าคนในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ยอมพลีชีพไปกับสังคมเก่าเสียทีเดียว ยังช่วยส่งข่าวสารเราอยู่ ปัญหาคือ ทำไมเรายังไปไม่ถึงจุด ใกล้ชนะ
นายอานนท์กล่าวอีกว่า นำมาสู่บทสรุปที่ว่า การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ยังไม่สามารถทำให้คนในสังคมจำนวนหนึ่งได้เห็นว่ามีความเป็นไปได้อื่นของการเปลี่ยนแปลง ยังไม่สามารถทำให้เขาเชื่อ หรือ ‘ซื้อฝัน’ ของคนรุ่นใหม่ได้ว่าวันหนึ่งเราจะไปสู่ชัยชนะ เรามั่นใจ ตระหนักชัดเจนในเจเนอเรชั่นของเรา แต่ถ้ารอให้สังคมเก่าทยอยล้มหายตายจาก ก็คงอีกหลายสิบปี การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วกว่านั้น ถ้าเราสามารถสื่อสาร ขายฝันให้กับคนอีกรุ่นหนึ่ง ให้ซื้อได้
“ผมจึงพยายามขายฝันให้นักกฎหมาย การติดคุก การโต้แย้งที่มีความเสี่ยงจะโดนคดีอื่น เราจะเห็นคนรุ่นใหม่ออกมาโต้แย้งกับกระบวนการอย่างออกหน้าชัดเจน การพิจารณาคดี 112 ม็อบ 19 กันยายน มีคดีย่อยคือละเมิดอำนาจศาลเป็น 10 คดี ทั้งสาดสี ปราศรัย โปรยกระดาษ ฯลฯ เป็นรายจ่ายของยุคสมัยซึ่งต้อง นับถือน้ำใจของคนเหล่านี้ที่ออกพูดมาพูดอย่างกล้าหาญจริงๆ เอาต้นทุนของตัวเองมาแลกให้เกิดใบเสร็จ ให้สังคมเห็น
“เราพยายามต่อสู้กับสังคมที่พยายามซ่อนเร้น ที่ทะลุวังติดคุก เพราะมาทำโพลชี้ว่าประเทศนี้มีปัญหาอย่างไร เขาถูกขังและอดข้าว คือรายจ่ายที่ต้องจ่าย ยอมเจ็บเพื่อให้เห็นความอัปลักษณ์ของกระบวนการ ข้อหาที่อัปยศ และหลายคำสั่งที่ถูกโต้แย้งอย่างตรงไปตรงมา บางคำร้อง ไม่ลงชื่อตัวเองให้เผยแพร่ไปสู่สาธารณะ เราได้เห็นเรื่องเหล่านี้” นายอานนท์กล่าว
จ่อบันทึกบทเรียน ‘การต่อสู้แห่งยุคสมัย’
ขอเดินหน้า ใช้วิชาชีพทนาย
นายอานนท์กล่าวว่า ตนไม่อยากใช้คำว่า เสียสละ แต่ถ้าไม่ทำลูกหลานรุ่นหลังเราก็จะต้องเจอแบบนี้ นี่คือการต่อสู้ของยุคสมัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่นักศึกษาหลายคนตอนนี้ออกมาต่อสู้ ทั้งที่รู้ว่าอาจะถูกพักการเรียน ถูกครอบครัวปฏิเสธ ผมว่าชัยชนะมันเห็นอยู่ แต่จะเดินไปสู่ชัยชนะอย่างไรให้สูญเสียหรือเจ็บปวดน้อยที่สุด ถ้าจะเจ็บปวด ก็จำกัดวงไว้ นี่คือการต่อสู้แบบภราดรภาค มีความเป็นพี่ เป็นน้องสูงมาก เงินประกันตัวไม่พอ 2-3 ชั่วโมงถัดไป เงินมาเป็นล้าน
“ผมมารู้ทีหลังว่ามีวินมอเตอร์ไซค์ต่างจังหวัดถอดหมวกมาระดมเงิน เอาไปโอนที่เซเว่น เหมือนตอนไปม็อบ จะได้เห็นแท็กซี่ หรือวินมอเตอร์ไซค์ที่ไม่คิดค่าโดยสาร แม่ค้าขายน้ำที่แจกจนเกรงใจ ผมชื่นชมในหัวใจการต่อสู้ด้วยใจทะนง ไปทางเดียวกันทุกคน นักวิชาการก็ทำงานในส่วนของตัวเองอย่างเข้มแข็ง ศิลปินหลายคนประกาศตัวออกมาอยู่ข้างฝ่ายประชาธิปไตย จนถูกเพิกถอนการเป็นศิลปินแห่งชาติ เราได้เห็นการสู้ในเชิงบวกของคนรุ่นใหม่ เห็นมิวสิกวิดีโอบางเพลงที่สอดแทรกการต่อสู้ เห็นปรากฏการณ์ของนักศึกษาที่จบใหม่ต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ว่าปฏิเสธสังคมเก่า ทำให้เรามีความหวังว่า ‘ชัยชนะอยู่ไม่ไกล’ วันไหน เมื่อไหร่ อาจจะตอบได้ไม่ชัดเจน วันนี้ทุกคนได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ ผมก็ทำหน้าที่ของทนายความ มีข้อบกพร่อง มีความสำเร็จ มีประสบการณ์ มีบทเรียน
“เป็นทนายความไม่ได้ชนะทุกคดี ผมตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องเหล่านี้ออกมาเป็นหนังสือ ถือโอกาสในเวทีนี้พูดกันล่วงหน้าว่า จะบันทึก สะท้อนการต่อสู้ โดยที่ตัวเองเป็นเหมือนสมุดบันทึกที่บันทึกเรื่องนี้เอาไว้ ก็จะยังอยู่กับคนรุ่นหลัง ใช้เราเป็นบทเรียน ทั้งข้อผิดพลาดและข้อสำเร็จ หวังว่าที่มาพูดในวันนี้ จะอยู่รอดปลอดภัย ไม่ถูกถอนประกัน หวังว่าจะได้ถอด EM โดยเร็ว
“ผมจะต่อสู้ในแนวทางของตัวเอง จะกลับไปทำหน้าที่ทนายความอย่างเต็มที่ ในฐานะที่รู้ข้อเท็จจริงคดีเยอะกว่าเพื่อน ตั้งใจว่าจะกลับมาสู่ฐานะเดิม วิชาชีพทนายความ เอาประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งดีและไม่ดีออกไปแลกเปลี่ยน” นายอานนท์กล่าวทิ้งท้าย