กฟผ. ลุย’วินมอเตอร์ไซค์อีวี-เรือไฟฟ้า’หนุนเทรนด์ขนส่งสาธารณะแห่งอนาคต

This image is not belong to us

22 กันยายน 2563  นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  “E Trans E” (Electric Transportation of EGAT) นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของ กฟผ. พร้อมปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเปิดตัวเรือโดยสารไฟฟ้าต้นแบบ โดยมีนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. คณะผู้บริหาร กฟผ.และผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมในพิธี ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM 2.5 จากภาคการขนส่ง โดยในปีนี้ กฟผ. มีเป้าหมายนำร่องวินมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าในพื้นที่ อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน 51 คัน ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าวิ่งได้ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีการติดตั้งระบบ GPS เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสาร โดยผู้ขับขี่สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำรองได้ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ภายในปลายปี 2563

นอกจากนี้ กฟผ. ได้พัฒนาเรือโดยสารไฟฟ้า จำนวน 2 ลำ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนขนาด 214 กิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถแล่นด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 10 น็อต ระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยระบบปรับอากาศในห้องโดยสารถูกออกแบบให้ใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาเซลล์ที่ติดตั้งอยู่บริเวณหลังคาเรือทั้ง 2 ลำ รองรับผู้โดยสารได้ลำละ 80 คน ซึ่งในระยะแรกจะทดสอบการเดินเรือเพื่อศึกษาวิจัยและประเมินสมรรถนะของเรือ โดยนำมาใช้ในภารกิจของ กฟผ. ก่อน แล้วจึงจะขยายผลสู่การใช้ประโยชน์สำหรับภาคประชาชนในอนาคตเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” ส่วนสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้าอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งบริเวณฝ่ายปฏิบัติการภาคกลาง กฟผ.

ส่วนการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า กฟผ. ได้นำรถยนต์เก่าใช้แล้วมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าด้วยชุด EV Kit ที่ กฟผ. และ สวทช. ร่วมกันพัฒนาขึ้น ให้สามารถวิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 200 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ความเร็วสูงสุดมากกว่า 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยมีค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงไม่รวมแบตเตอรี่ประมาณ 200,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในการดัดแปลงรถยนต์ให้แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการดัดแปลงรถเมล์เก่าที่หมดอายุการใช้งานแล้วของ ขสมก. ให้เป็นรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ วิ่งได้ระยะทางไกลประมาณ 100-250 กิโลเมตรต่อการอัดประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจร ความเร็วสูงสุดมากกว่า 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 80 คน และจะนำไปใช้ทดสอบเดินรถจริงในเส้นทางสาย 543ก (ท่าน้ำนนทบุรี – อู่บางเขน)

การพัฒนานวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า นับเป็นอีกหนึ่งความมุ่งมั่นตั้งใจของ กฟผ. ในการแสวงหาองค์ความรู้สำหรับพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งชุดอุปกรณ์ดัดแปลง แบตเตอรี่ หรือชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเดินหน้าผลักดันไทยสู่การเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน ตลอดจนส่งเสริมให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงยานยนต์ไฟฟ้าในวงกว้างมากขึ้น

This image is not belong to us