“เสธ.หมึก” พลเอกเดชา เหมกระศรี นายกสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ในปัจจุบันนี้กีฬาจักรยานได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปอย่างกว้างขวาง มีการจัดแข่งขันจักรยานรายการต่างๆ ทั่วประเทศ แต่มีการแข่งขันหลายรายการไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตสมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย เช่น นักกีฬาที่ไปร่วมแข่งขันเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ แต่ผู้จัดหรือบริษัทออร์แกไนเซอร์บางรายไม่รับผิดชอบ นักกีฬาก็มาร้องเรียนกับสมาคมกีฬาจักรยานฯ แต่เนื่องด้วยสมาคมฯ ไม่ได้รับทราบการแข่งขันดังกล่าว จึงไม่สามารถเข้าไปดำเนินการใดๆ ได้ ซึ่งปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำ
พลเอกเดชา กล่าวว่า สมาคมกีฬาจักรยานแห่งประเทศไทยฯ มีความห่วงใยในความปลอดภัยของนักปั่นทุกคน จึงขอให้ผู้จัดการแข่งขัน หรือบริษัทออร์แกไนเซอร์ต่างๆ รวมทั้ง สมาคมกีฬาแห่งจังหวัด และสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยทุกจังหวัด ที่มีโครงการจะจัดการแข่งขันจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันประเภทถนน (ไทม์ไทรอัล, โรดเรซ), ประเภทเสือภูเขา (ครอสคันทรี, ดาวน์ฮิล) และประเภทบีเอ็มเอ็กซ์ ที่ใช้กฎกติกาของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ต้องทำหนังสือขออนุญาตจัดแข่งขันกับสมาคมกีฬาจักรยานฯ ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบก่อนการแข่งขัน 30 วัน หรือหากมีเหตุสุดวิสัยจะต้องแข่งขันอย่างเร่งด่วนขอได้โปรดขอรับคำปรึกษาจากฝ่ายเทคนิคของสมาคมกีฬาจักรยานฯ โดยตรง เพื่อจะได้พิจารณาตามความเหมาะสมกับจำนวนวันที่จะจัดการแข่งขันต่อไป
“การแข่งขันกีฬาจักรยานบางประเภทมีความอันตราย เช่น ประเภทเสือภูเขาทั้งดาวน์ฮิล และครอสคันทรี เนื่องจากต้องปั่นลงมาจากภูเขา หรือสภาพภูมิประเทศที่มีอุปสรรค หากผู้จัดการแข่งขันไม่มีความรู้หรือไม่ทราบกฎกติกา เช่น ไม่มีการจัดรถพยาบาลเพื่อเตรียมพร้อมกรณีเกิดอุบัติเหตุ ไม่มีเครื่องป้องกันการกระแทกตามจุดที่อันตรายระหว่างเส้นทางแข่งขัน บริเวณที่มีโขดหิน หรือต้นไม้ใหญ่ ที่ผ่านมาบริษัทออร์แกไนเซอร์หลายรายไม่ทราบกติกาเหล่านี้ ส่งผลให้นักกีฬาที่เข้าแข่งขันเกิดอุบัติเหตุ บางรายอาจถึงขั้นพิการ หรือเสียชีวิต ซึ่งเคยมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นมาแล้ว” พลเอกเดชา กล่าว
พลเอกเดชา กล่าวอีกว่า หากผู้จัดการแข่งขันมีการขออนุญาตอย่างถูกต้อง สมาคมกีฬาจักรยานฯ จะจัดผู้ตัดสินที่มีความรู้ความสามารถและผ่านการอบรมหลักสูตรผู้ตัดสินประเภทต่างๆ จากวิทยากรที่มาจากสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) ไปทำหน้าที่ควบคุมการแข่งขัน และดูแลเรื่องความปลอดภัยต่างๆ ทั้งเรื่องรถพยาบาล และเครื่องป้องกันการกระแทกระหว่างเส้นทางแข่งขัน หากเป็นการแข่งขันรายการใหญ่ก็ต้องจัดผู้ตัดสินไปอย่างเต็มรูปแบบ แต่ถ้ารายการระดับกลาง หรือระดับเล็ก ก็อาจจะจัดผู้ตัดสินไปทำหน้าที่ ลดหลั่นกันลงไป โดยมีผู้ตัดสินท้องถิ่นที่ผ่านการอบรมกับสมาคมกีฬาจักรยานฯ มาเป็นผู้ช่วย ส่วนค่าตอบแทนทางผู้จัดการแข่งขันก็แค่ดูแลเรื่องที่พักและเบี้ยเลี้ยงให้ผู้ตัดสินตามกฎระเบียบ ซึ่งไม่ได้มีค่าใช้จ่ายสูงแต่อย่างใด
นายกสองล้อไทย เจ้าของฉายา “หมึกต้นแบบ” กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ผ่านมามีผู้จัดหลายรายได้รับข่าวสารไม่ที่ตรงกับความจริง หรือได้รับข่าวเท็จว่าการขออนุญาตจัดการแข่งขันกับสมาคมกีฬาจักรยานฯ ต้องเสียเงินมหาศาลไม่ต่ำกว่า 50,000 บาท หรือต้องเสียค่านายหน้าให้แก่บางคน ทำให้ผู้จัดการแข่งขันไม่กล้ามาขออนุญาตให้ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การจัดกีฬาจักรยานแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการปั่นเพื่อสันทนาการ เช่น ปั่นจักรยานท่องเที่ยว ปั่นเพื่อสุขภาพ เป็นต้น ซึ่งในประเภทนี้ผู้จัดสามารถดำเนินการจัดได้เลยโดยไม่ต้องขออนุญาตสมาคมฯ ส่วนประเภทที่สอง เป็นการจัดแข่งขันเพื่อความเป็นเลิศ โดยใช้กฎกติกาของสหพันธ์จักรยานนานาชาติ (ยูซีไอ) การจัดประเภทนี้จะต้องขออนุญาตกับสมาคมฯ ให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ
พลเอกเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาคมกีฬาจักรยานฯ ยินดีให้การสนับสนุนผู้จัดการแข่งขัน และการแข่งขันทุกๆ รายการ แต่ทั้งนี้ผู้จัดแข่งขันก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของนักกีฬาเป็นหลัก โดยขอให้ทำหนังสือมาขออนุญาตอย่างถูกต้อง สมาคมฯ ก็จะจัดผู้ตัดสินไปควบคุมดูแล ซึ่งผู้จัดการแข่งขันสามารถเข้าไปศึกษากฎระเบียบดังกล่าวได้ที่เว็บไซต์ของสมาคมกีฬาจักรยานฯ www.thaicycling.or.th ส่วนสโมสรหรือชมรมจักรยานที่จะส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันขอให้ตรวจสอบว่าการแข่งขันรายการใดที่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้อง และรายการใดที่ไม่ได้ขออนุญาต โดยสมาคมกีฬาจักรยานฯ จะประกาศลงในเว็บไซต์ของสมาคมฯ เป็นประจำทุกเดือน แต่ถ้านักกีฬาคนใดไปร่วมแข่งขันในรายการที่ไม่ได้ขออนุญาตมาอย่างถูกต้อง ก็จะมีบทลงโทษตามที่ระบุไว้ในกฎระเบียบของสมาคมฯ หรือมีข้อสงสัยประการใดขอให้สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 0-2719-3340-2 ในวันและเวลาราชการ.