การชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งจะมีการลงคะแนนบัตรกัน ในวันที่ 22 พฤษภาคม นี้ มีลักษณะไปทางการแข่งขันระหว่างตัวบุคคล มากกว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง เพราะผู้สมัครส่วนใหญ่ประกาศตนว่าสมัครแบบอิสระส่วนคนไหนจะไปมีพรรคการเมืองหนึ่งใดแอบให้การสนับสนุน ก็ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งในวันนี้ไม่ได้สำคัญเท่ากับคุณค่าของตัวองค์บุคคลนั้นๆ เอง ที่จะต้องมีบุคลิกที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจะต้องพยายามสร้างความโดดเด่นให้กับตัวเองให้ได้ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้อันหมายถึงการแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์ว่าจะเข้ามาเสริมสร้างความผาสุกให้กับชาว กทม. ได้อย่างไร และวิสัยทัศน์ต่างๆ นั้นน่าฟัง สอดคล้องกับความต้องการของชาว กทม. ได้มากน้อยและเป็นจริงเป็นจังแค่ไหน
เท่าที่ผ่านมา ก็ได้เริ่มมีการแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์ และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชีวิตชาว กทม. กันบ้างแล้ว เช่น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม การเสริมสร้างความเป็นสีเขียวของ กทม. การส่งเสริมการใช้รถจักรยาน ไปจนถึงการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดมลภาวะและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ไปจนถึงการนำเอาระบบเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่เข้ามาเป็นกลไกในการบริหารจัดการและบริการชาว กทม. และก็คงมีข้อเสนอขายความคิด ขายความคาดหวัง เพิ่มเติมขึ้นมามากขึ้นเรื่อยๆ
แต่ถ้าจะพินิจพิจารณากันให้ลึกซึ้ง และกว้างขวางขึ้นไปอีกนิด ซึ่งก็หวังว่าผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่า กทม. จะได้มีเวลาคิดไตร่ตรอง และนำเสนอต่อชาว กทม. ในเรื่องการเสริมสร้างประชาธิปไตยแบบที่มีการมีส่วนร่วมกันมากขึ้น และลดความสลับซับซ้อน หรือการเข้ามาแทรกแซงของอำนาจส่วนกลางในภารกิจและความเป็นตัวตนของฝ่ายปกครองท้องถิ่น หรือนัยหนึ่งให้มีการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นให้มากขึ้น ดังเช่น
1.การให้สถานีตำรวจขึ้นไปอยู่ภายใต้การกำกับการของผู้ว่าฯ กทม. โดยมีรองผู้ว่าการ กทม. 1 คนที่ส่งมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้เข้ามาช่วยดูแลงาน
2.การโอนงานสาธารณูปโภคที่ยังอยู่ในอาณัติของรัฐบาลกลางผ่านกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม เป็นต้น ให้มาขึ้นอยู่กับฝ่าย กทม. เช่น การไฟฟ้านครหลวง การประปานครหลวง และการขนส่งมวลชนทุกประเภท เป็นต้น อีกทั้งก็อาจจะมีการพิจารณาดำเนินการภายในตารางเวลาหนึ่ง เพื่อให้กิจการรักษาพยาบาลกิจการดูแลคนพิการ คนชรา และผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ให้มาขึ้นกับฝ่ายท้องถิ่นให้มากที่สุด โดยลดบทบาทของหน่วยงานกลาง เช่น กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์
3.นอกจากนั้น โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม ไปจนถึงโรงเรียนอาชีวศึกษาต่างๆ นั้น ก็ให้ขึ้นกับฝ่าย กทม. โดยกระทรวงศึกษาฯ เน้นเรื่องการวางและพัฒนาหลักสูตรกลาง สิ่งตีพิมพ์ที่เกี่ยวข้อง และการฝึกอบรมและออกประกาศนียบัตรวิชาชีพให้กับผู้ที่จะมาเป็นครู และอาจารย์ผู้ฝึกสอน
ซึ่งทั้งหมดดังกล่าวนี้ ก็จะเป็นการถ่ายโอนอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง เป็นการเพิ่มความรับผิดชอบในเรื่องทุกข์สุขประจำวัน ให้กับคนในท้องถิ่นโดยตรง และเป็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมอีกด้วย
4.นอกจากนั้น ก็ยังมีข้อคิดในการแยกอำนาจการบริหารราชการ กทม. ออกจากอาณัติของกระทรวงมหาดไทย เพราะไม่มีเหตุผลอันใดที่รัฐมนตรีมหาดไทยจะต้องมากำกับควบคุมฝ่าย กทม. เนื่องจากฝ่าย กทม. มาจากการเลือกตั้งของชาว กทม. อีกทั้ง กทม. ก็มีสภากทม. ที่มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน และฉะนั้น ชาว กทม.และสภา กทม. เป็นผู้กำกับควบคุมผู้ว่าฯ กทม. และคณะและมิใช่รัฐมนตรีมหาดไทย หรือแม้กระทั่งคณะรัฐมนตรี ซึ่งประเด็นปัญหาใดในระดับ กทม.ก็นำไปอภิปราย ปรึกษาหารือกันได้ในรัฐสภาส่วนกลาง ก็เพื่อช่วยกำกับดูแลกันได้ในอีกระดับหนึ่ง
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากจะฟังจากบรรดาผู้สมัครก็คือ การจัดลำดับความสำคัญก่อนหลังของงบประมาณของ กทม. ว่าจะตัดลดสิ่งที่ไม่จำเป็นอย่างไร และจะทุ่มไปในภารกิจหนึ่งใด ด้วยเหตุผลอันใด
ที่ประเทศอินโดนีเซีย ก็มีกฎเกณฑ์กติกาว่า ตัวประธานาธิบดีจะต้องพบปะหารือกับบรรดาผู้นำท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง 1-2 ครั้งต่อปี เพื่อประสานนโยบายและความร่วมมือ ก็คงไม่เสียหลายถ้าในระบบของไทยเราจะให้มีคณะกรรมการประสานงานระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่าย กทม. เพื่อเสริมสร้างความผาสุกของชาว กทม. และชาวไทยอื่นๆ ที่เข้ามาทำการทำงานที่ กทม. อีกทั้งกรุงเทพมหานครเป็นราชธานี เพราะฉะนั้น การร่วมมือระหว่างรัฐบาลกลางและผู้ว่าฯ กทม. เพื่อเสริมสร้างความเป็นราชธานี ก็เป็นเรื่องที่จักต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมากด้วย
ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง ก็การพินิจพิเคราะห์ว่า ในบรรดาผู้สมัครทั้งหมดนั้น มีผู้ใดที่มีประสบการณ์และความชำนาญการในการบริหารจัดการ และมีความเป็นผู้นำองค์กร แล้วในจำนวนผู้สมัครเหล่านี้มีใครที่เราคิดได้ว่าจะมีฝีมือในการบริหารจัดการองค์กรที่เรียกว่า กทม. เพราะเราคงไม่ต้องการมือสมัครเล่น ไม่ต้องการนักเพ้อเจ้อและนักขายฝัน เพราะเราต้องการมีชีวิตอยู่ในราชธานีที่มีความเป็นศิวิไลซ์ และกำกับด้วยหลักธรรมาภิบาล
กษิต ภิรมย์
kasitfb@gmail.com