ม.ขอนแก่น เปิดตัวจักรยานผ้าไหมคันแรกของโลก เผยคุณสมบัติเหนือกว่าอลูมิเนียม น้ำหนักเบาเทียบเท่าคาร์บอนไฟเบอร์ แต่ราคาถูกกว่า 4 เท่า จดสิทธิบัตรในนามสถาบัน พร้อมต่อยอดผลิตในเชิงพาณิชย์
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 มิ.ย.61 ที่อาคารสิริคุณากร สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ผศ.ดร.รัชฎา ตั้งวงค์ไชย ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รศ.ดร.ลัดดา ตันวาณิชกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข., ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ และ ดร.สุธา ลอยเดือนฉาย อาจารย์ภารวิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัยจักรยานผ้าไหม คันแรกของโลก จากผลงานนักวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. ท่ามกลางความสนใจจากนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และสื่อมวลชนจำนวนมาก
ผศ.ดร.พนมกร ขวาของ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า จักรยานผ้าไหมคันแรกของโลก 2 คันต้นแบบ เป็นการนำวัสดุใหม่มาทดแทนโครงรถจักรยานที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ที่มีน้ำหนักเบาแต่มีราคาสูงถึงโครงละ 40,000-100,000 บาท ในขณะที่โครงจักรยานไหมมีต้นทุนการผลิตเพียง 15,000-20,000 บาท ซึ่งถูกกว่าถึง 4 เท่า แต่น้ำหนักเบา มีค่าการยืดหยุ่นตัวสูงเมื่อเทียบกับโครงอลูมิเนียม และจากการทดสอบพบว่าโครงจักรยานที่ทำจากไหมผสมเรซินสามารถรับแรงกด หรือแรง Load ได้มากกว่า 1,300 นิวตัน แรงเค้น หรือ Stress ได้มากกว่า 55 เมกกะปาสคาล และค่าการยืดหยุ่นตัว หรือ Flex Modulus มากกว่า 2,700 เมกกะปาศาล เมื่อเทียบกับโครงรถจักรยานอลูมิเนียมที่มีน้ำหนักเท่ากันที่นำมาทดสอบ
“จักรยานที่ทำมาจากคาร์บอนไฟเบอร์ มีน้ำหนักเบา แต่ราคาสูง ขณะที่โครงรถจักรยานผ้าไหมผสมเรซินที่ประดิษฐ์และคิดค้นขึ้นในครั้งนี้เป็นวัสดุใหม่ที่สามารถนำมาทดแทนโครงรถจักรยานที่ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่า รับแรงกดได้มากกว่าโครงรถจักรยานอลูมิเนียมประมาณ 5 เท่า การทดสอบแรงดึงพบว่าสามารถรับแรงดึงได้มากกว่าโครงรถจักรยานที่ทำจากอลูมิเนียมประมาณ 8 เท่า การทดสอบแรงยืดหยุ่น พบว่าโครงจักรยานผ้าไหมสามารถยืดหยุ่นตัวได้มากกว่าอลูมิเนียม ประมาณ 30 เท่า ซึ่งจะส่งผลดีกับผู้ขับขี่”
ผศ.ดร.พนมกร กล่าวต่ออีกว่า กระบวนการขั้นตอนในการผลิตโครงจักรยานผ้าไหมคันแรกของโลก นั้นเริ่มจากการนำโครงจักรยานต้นแบบมาตัดโครงเก่าออกเพื่อใช้ข้อต่อของจักรยานเดิม จากนั้นใช้เรซิ่นมาเชื่อมผ้าไหมเข้าด้วยกัน เมื่อได้ชิ้นส่วนครบแล้วนำมาประกอบเป็นโครงจักรยานที่มำจากผ้าไหมเข้ากับโครงจักรยานต้นแบบเดิม จากนั้นนำเส้นไหมมาพันโดยรอบโครงจักรยานที่ทำจากผ้าไหมโดยทิ้งเรซิ่นไว้ให้แห้งแข็งตัวเป็นเวลา 3 วัน แล้วนำมาขัดผิวสัมผัสให้เรียบเนียนด้วยเครื่องกลึงให้มีความสวยงาม นำเข้าสู่ขั้นตอนของการประกอบโครงจักรยานและเฟรมส่วนที่รับน้ำหนักจากเบาะถึงแกนล้อหลัง ซึ่งน้ำหนักผ้าไหมที่ใส่เรซิ่นนั้นจะเท่ากับน้ำหนักของเฟรมอลูมิเนียม โดยจักรยานต้นแบนนั้นจะมีสีเหลืองและสีขาว อย่างไรก็ตามทีมงานนักวิจัยได้จดสิทธิบัตรโครงรถจักรยานที่ทำจากผ้าไหมผสมเรซิ่น เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของ มข.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าเป็นการต่อยอดผ้าไหมไทย ที่นำเอาคุณสมบัติในเรื่องของความแข็งแรงและทนทานของไหมมาใช้เป็นวัสดุทดแทนคาร์บอนไฟเบอร์ และจะต่อยอดเข้าสู่เชิงพาณิชย์ให้กับผู้ที่สนใจได้อีกด้วย.